ครบรอบ 2 ปี 'เขมานันทะ' จากไป : ศิษย์เขียนถึงครู เรื่องเล่าพระสวนโมกข์

ครบรอบ 2 ปี 'เขมานันทะ' จากไป : ศิษย์เขียนถึงครู เรื่องเล่าพระสวนโมกข์

เขมานันทะ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2550 นักเขียนซึ่งจากไปครบ 2 ปีในวันที่ 13 มกราคม 2564 เป็นนักประพันธ์ทางศาสนาที่ลุ่มลึก มีผลงานมากมาย อาทิเช่น เปลวไฟกลางสายธาร , ดวงตาแห่งชีวิต ฯลฯ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครั้งที่อาจารย์โกวิท เขมานันทะ จากไปในอรุณรุ่งของวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2562 และดิฉันได้นำข้อเขียนของอาจารย์เรื่องเกี่ยวกับดวงแสงดารา ที่อาจารย์เขียนไว้ยาวที่สุดในช่วงปลายของชีวิตออกมาเผยแพร่ไปแล้วนั้น ดิฉันยังได้มีโอกาสเปิดค้นสมุดบันทึกเก่า ที่เคยจดจารเรื่องราวต่างๆ ครั้งได้เรียนรู้การภาวนาและทำงานกับอาจารย์ไว้
บางเนื้อหาอ่านแล้วนอกจากได้ปัญญา ได้หวนรำลึกย้อนกลับไปยังวันวานกับอาจารย์และน้องๆ เพื่อนรักแล้ว ยังได้หัวเราะกับหลากหลายเรื่องราว ที่น่าจะนำมา “บอกกล่าวเล่าต่อ” เพราะการเล่าเรื่องต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นชนิด “พงศาวดารกระซิบ” ดังเช่นที่ดิฉัน “ทำๆ” อยู่นี้ คือวิธีการจดบันทึกอันเป็นปกติของชาวบ้านไทยและคนไทยทุกระดับมาแต่ยุคโบราณแล้ว หรือมิใช่?
161052977590
(อ.โกวิท เขมานันทะ)
จำได้ดีว่าครั้งที่อ.โกวิท เขมานันทะ ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ.2550 ใหม่ๆนั้น ดิฉันกับน้องกิ๋ว คุณปรัศนันท์ กังศศิเทียม ได้เข้าไปพบอ.โกวิท ที่บ้านพักอาจารย์ในหมู่บ้านบัวขาว วันนั้นแดดร่ม และอากาศสดใสมาก ดิฉันเขียนบันทึกไว้ว่า
“20 พฤษภาคม 2551 วันนี้ไปพบอาจารย์โกวิท ตั้งใจชวนอาจารย์ไปดูภาพเขียนของอาจารย์ที่ อ.โชติวัฒน์จัดแสดงไว้ที่คณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากร แต่อาจารย์ไม่ไป ฉันกับกิ๋วเลยออกไปซื้อข้าว กลับมากินข้าวกับอาจารย์ เฉาะผลไม้กินกันไป นั่งคุยกับอาจารย์ไป เป็นวันที่ดี อาจารย์ดูดีมากๆ
ดูท่านสบายตัว หน้าตาสดใส และยังเท่ยังดูดีสุดๆ ยังไงๆ อาจารย์ก็ดูเป็นทั้งศิลปินและนักปฏิบัติธรรมอยู่นั้นแหละ ฉันแอบสะกิดขาอาจารย์ ไปเหอะ ไปดูภาพเขียนของอาจารย์ที่ศิลปากรกันเถอะ
วันนี้อาจารย์คงอารมณ์ดีจริงๆ เลยไม่ชักตีนหนี เจอยังงี้ก็แสนจะดีใจแล้ว ถามอาจารย์ว่าได้เห็นบทสัมภาษณ์และรูปถ่ายอาจารย์ที่ฉันเขียนลงในเนชั่นสุดสัปดาห์บ้างแล้วหรือยัง อาจารย์ดูหรือยัง เป็นไงบ้าง อาจารย์ยิ้มขำ-บอกต้องปรับอาบัติบรรณาธิการด้วยล่ะมั้ง
และยังบอกอีกว่า วันนี้ให้ศิลปินแห่งชาติเลี้ยงข้าวนะ ฉันกับกิ๋วฮาพร้อมกันเลย ฉันบอก อาจารย์คะขอดูบัตรประจำตัวศิลปินแห่งชาติหน่อยดิ้ ไม่เคยเห็น อยากรู้หน้าตาบัตรเป็นอย่างไร อาจารย์อิดๆเอื้อนๆ ไม่ยอมควักให้ดู ฉันเลยบอก ไม่เป็นไรค่ะ หนูไม่เคยตื๊อใคร แล้วแต่อาจารย์ละกัน พอฉันกับกิ๋วจะกลับแล้วนั้นแหละ อาจารย์ถึงยอมควักบัตรศิลปินแห่งชาติออกมาให้เราดูจนได้”
ในการพบกับอาจารย์วันนั้น ดิฉันและน้องกิ๋วยังได้นั่งซักถามอาจารย์ถึงชีวิตวันวานครั้งแรกบวชตั้งแต่ปลายปีพ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นมา เมื่อเพิ่งเป็นพระภิกษุใหม่ๆ อยู่ที่สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานีเรื่องราวช่วงเริ่มใช้ชีวิตนักบวชครั้งนั้น มีบางเรื่อง บางช่วงตอนที่อ.โกวิทไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติของท่าน
161052988899
แต่ดิฉันเคยซักถามไว้ จะปล่อยให้ผ่านเลยก็น่าเสียดาย จึงขอนำมาบอกเล่าไว้ในข้อเขียนชุดนี้ เพื่อเล่าต่อ เล่าขานเรื่องอันอยู่นอกหนังสือ “ทางทรายใกล้ทะเลสาบ: อัตชีวประวัติช่วงแสวงหามายาชีวิตของเขมานันทะ” โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับอ.โกวิทกับนักบวชสวนโมกข์ ทั้งท่านพุทธทาสและพระภิกษุรูปต่างๆ ดังที่ อ.โกวิทย้อนรำลึกให้ฟังดังนี้
“ในช่วงแรกที่ผมไปอยู่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์สวนโมกข์(ท่านพุทธทาส) เคยบอกเณรหลานชายของท่านถึงผมว่า หมอนี่แปลก ถามอะไรแปลกๆ
ร่มเงาของท่านอาจารย์สวนโมกข์โน้มนำให้ผมมุ่งสู่ทิศทางต่างๆ เช่นความเป็นปราชญ์ แต่ต่อมาท่านกระแทกผมแรง มีครั้งหนึ่งผมไประบายความตกต่ำของสังคมให้ท่านอาจารย์ฟัง เพราะผมไปจากกรุงเทพฯ เห็นความเจริญบางอย่างเป็นความตกต่ำ
พอโยมเอาน้ำอัดลม เอาCoca Cola มาถวายพระสวนโมกข์ ผมเห็นแล้วทนไม่ไหว แสดงความคิดเห็นอย่างไม่รู้เท่าทัน คาดการณ์ไม่ถึง ผมแสดงมติว่า โรงงานผลิตน้ำอัดลมใส่สารพิษให้คนกิน Coca Cola คือต้นCoca จะกัดสมอง สมองถูกทำลายได้
ท่านอาจารย์สวนโมกข์บอกทันที--โง่บ้างก็ดี ท่านกระแทก ที่ผมชอบแสดงความคิดเห็น
แบบนี้แหละที่ผมเจอมา ผมไม่ถึงกับโกรธหรือน้อยใจ แต่รู้สึกต้องระวังตัวในทุกถ้อยกระทงความที่คุยกับท่าน
มีอีกครั้งหนึ่ง ผมได้ไปสำรวจโบราณคดีรอบสวนโมกข์กับท่านอาจารย์ มีนักโบราณคดีฝรั่งชื่อคลอริซ เวลล์มาคุยกับอาจารย์ ท่านอาจารย์กวักมือเรียกผม ชวนผมขึ้นรถไปด้วย ท่านยื่นหนังสือ “โบราณคดีอ่าวบ้านดอน” ให้ผมถือเดินตามท่าน ผมรู้สึกเหมือนเด็กถูกtake care
ท่านอาจารย์ทำให้ผมมีความสุขที่ได้เดินถือหนังสือตามหลังท่าน ท่านอาจารย์อยากให้ผมได้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่แถบนี้
รอบอ่าวบ้านดอนนี้ คุณประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์ เคยมาศึกษาสำรวจทางโบราณคดีไว้ แต่คุณประทุมรู้เร็ว สรุปเร็วเกินไป ขาดความต่อเนื่องกับปัญญาญาณด้านต่างๆ
พอกลับมาที่สวนโมกข์ ท่านอาจารย์ให้ผมรายงานว่าพบอะไรบ้าง เห็นอะไรมาบ้างในวันนี้ ความที่ผมตื่นเต้น เพราะผมเองก็เพิ่งบวชได้ไม่นาน แล้วอยากเป็นพระเอกในที่ประชุม ผมเลยบอกเจอไห 2 ลูก ท่านอาจารย์ถามไหขนาดไหน ผมทำมือใหญ่ขนาดปากไหกว้างมากกว่า 1 ฟุตเลย ท่านอาจารย์อึ้ง มันไม่มีในสารบบ ไหอะไรปากใหญ่ขนาดนั้น แล้วความจริงก็มาทัน รู้ทันตัวเอง นี่มันคำโม้ของเรานะนี่ ผมลดขนาดทันที
161052992481
ยังมีครั้งหนึ่ง ผมต้องเดินไปซ่อมพระพุทธรูปที่วัดชยาราม ตอนนั้นต้องเดินเท้าจากสวนโมกข์ ผ่านคันนา ผ่านทางรถไฟ ทุกครั้งที่ผมสนทนากับเจ้าอาวาสวัดนี้ ผมได้ยินแต่คำรื่นหู ชาวบ้านก็รักเคารพท่านมาก ได้สนทนากับท่านพบแต่ความนิ่มนวล มีnobility ระหว่างกันสุดๆ
จริยาของท่านเจ้าอาวาสวัดชยารามงามกว่าท่านอาจารย์สวนโมกข์มาก ก็เหมือนๆ กับที่คนมักวิจารณ์ว่า ท่านธรรมทาสดูน่าจะเป็นพระมากกว่าอาจารย์สวนโมกข์ แต่ท่านอาจารย์สวนโมกข์แสดงให้เห็นชัดว่า ความมีคุณธรรมเอาชนะรูปแบบได้
อิทธิพลของความดี ความฉลาด มีผลจริงต่อชุมชน หากปราชญ์ เมธีปรากฏขึ้น คนทั้งชุมชนจะได้รับผลอย่างเต็มที่ อย่างแท้จริง
ระบบถ่ายเทธรรมะแบบโบราณ จะเอาความเจ็บปวด น้ำตา การอยากบรรลุธรรมเป็นตัวยืน พอ 4-5 ปีไปแล้ว ธรรมะในตัวจะเกิดเอง เพราะได้เห็นสัตตบุรุษ ได้เห็นตัวอย่างจริงที่ไม่ใช่การคาดเดา
ท่านอาจารย์สวนโมกข์สอนเราชัดเจนในเรื่องนี้ อย่างพระมหาสำเริง คนที่แปลคัมภีร์ต่างๆ เคยบอก-- ผมรักท่านอาจารย์มาก แต่ไม่อยากอยู่ใกล้
ที่พระมหาสำเริงพูดแบบนั้น เพราะท่านอาจารย์สวนโมกข์เดือดอยู่เรื่อย สั่งแล้วต้องทำเดี๋ยวนั้น ท่านเคยสั่งพระเณรให้เช็ดฝุ่น กวาดขี้ธูปตรงที่วางพระพุทธรูป สั่งแล้วไม่ทำกันสักที ท่านเดือด ท่านเอาตีนกวาดขี้ธูปหยดเทียนลงมาหมด ตั้งแต่นั้น ที่ตรงนั้นไม่เคยสกปรกอีกเลย
ยังมีอีกครั้งหนึ่งท่านอาจารย์นั่งอยู่ในโรงหนัง โยมแก่ๆพาหลาน 12 ขวบเข้ามาในโรงหนัง ท่านอาจารย์ทักทายตะโกนถาม--หลานชายกำลังเรียนอะไรอยู่
โยมตอบแปลก และเป็นที่ชอบใจท่าน “ไอ้นี่(ชื่อเด็ก) มันโง่นัก ให้บวชซักหน่อยจะดี”
ท่านอาจารย์อึ้ง มองหน้าผม แล้วเปรยว่า “ทั้งวัดนี่มันโง่หมดรึไงนะ”