‘วีรศักดิ์’ สั่ง ‘กรมเจรจาฯ’ นำออนไลน์เสริมแกร่งให้เอสเอ็มอี พร้อมใช้ประโยชน์เอฟทีเอ เพิ่มยอดขาย

‘วีรศักดิ์’ สั่ง ‘กรมเจรจาฯ’ นำออนไลน์เสริมแกร่งให้เอสเอ็มอี พร้อมใช้ประโยชน์เอฟทีเอ เพิ่มยอดขาย

รมช.พาณิชย์ มอบนโยบายกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ  ปรับแผนปี 64  หลังโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ เน้นใช้เทคโนโลยีออนไลน์ ติดอาวุธเอสเอ็มอี แนะใช้เอฟทีเอ สร้างแต้มต่อสินค้าไทย

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ปรับกลยุทธ์การทำงาน ปี 2564 แก้เกมโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยให้เน้นการใช้เทคโนโลยีออนไลน์สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ เพื่อติดอาวุธให้กับกลุ่มเกษตรกร เอสเอมอี สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน พร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA) ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สามารถจับคู่ธุรกิจเพิ่มยอดขาย และบุกตลาดต่างประเทศได้จริง

161052404480

“ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาเกษตรกรแห่งชาติ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสหกรณ์ มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดฝึกอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ กฎระเบียบและมาตรการทางการค้า รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในตลาดส่งออก และการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มยอดขายและโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกร และ เอสเอ็มอี  ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดที่ไทยมีเอฟทีเอด้วย ดังนั้น ในปีนี้จึงเน้นย้ำให้กรมฯ เพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาเป็นตัวช่วยในการจัดกิจกรรม เพื่อให้เกษตรกร เอสเอ็มอี สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน สามารถเจาะตลาดต่างประเทศและเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นแม้ในช่วงวิกฤติโควิด” นายวีรศักดิ์กล่าว

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า   สำหรับโครงการสำคัญที่กรมฯ จะดำเนินการ ในปี 2564 และจะเพิ่มการนำเทคโนโลยีออนไลน์มาใช้ในการจับคู่ธุรกิจ ตามนโยบายของ รมช.พาณิชย์ ได้แก่ โครงจัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ เน้นขยายตลาดส่งออกไปอาเซียนและจีน โครงการจับมือผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ เพิ่มการส่งออกต่างประเทศด้วยเอฟทีเอร่วมกับ ศอ.บต. โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรไทยให้สามารถเพิ่มการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าสหกรณ์ไทยสู่โลกการค้าเสรี และโครงการยกระดับผู้ประกอบการไทยผ่านโลกการค้าเสรี ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความตกลงเอฟทีเอจำนวน 14 ฉบับ (รวมอาร์เซ็ป) กับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ มีมูลค่ารวม 302,991 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2 ใน 3 (สัดส่วน 63% ของมูลค่าการค้าไทย กับโลก) โดยส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ มูลค่า 150,933 ล้านดอลลาร์ และนำเข้ามูลค่า 152,639 ล้านดอลลาร์ สำหรับในช่วงเดือน ม.ค. – พ.ย. 2563 การค้าของไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ มีมูลค่า 250,721.76 ล้านดอลลาร์ เป็นการส่งออกมูลค่า 128,221.19 ล้านดอลลาร์และนำเข้ามูลค่า 122,500.57 ล้านดอลลาร์ ซึ่งประเทศคู่เอฟทีเอที่เป็นคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น