KTB หั่นจีดีพี ปีนี้โต 2.5% โควิด-19รอบใหม่ สูญ 1.6แสนล้าน

กรุงไทยมองเศรษฐกิจ ปี 2564 ขยายตัว 2.5% จากเดิมคาด 3.5% หลังคาดรัฐใช้มาตรการคุมเข้ม2 เดือน ส่งผลกระทบเศรษฐกิจ 1.6แสนล้านบาท
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวที่ระดับ 2.5% พ้นจากภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นในปี 2563 ที่เศรษฐกิจหดตัว 6.5%
โดยแม้ว่าการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 จะกระทบการใช้จ่ายของภาคเอกชนอย่างมากในขณะนี้โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ แต่หากมาตรการที่ใช้อยู่สามารถควบคุมสถานการณ์ภายใน 2-3 เดือน จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 109.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำลงกว่าประมาณการเดิมที่ 131.8 ล้านคน-ครั้ง แต่ก็ยังสูงกว่าปีก่อนหน้าที่ 91.2 ล้านคน-ครั้ง.
นอกจากนี้ การเยียวยาโควิดรอบสองของรัฐที่ออกมาจะมีส่วนช่วยในการลดผลกระทบ
“การแพร่ระบาดระลอกใหม่ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสไม่ต่ำกว่า 1.6 แสนล้านบาทจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้าออกไปท่ามกลางความไม่แน่นอน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่กดดันเศรษฐกิจอยู่ เช่น การขาดแคลนตู้สินค้าในการส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท และภาวะแล้งที่ต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีจะได้รับอานิสงส์จากวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการควบคุมการแพร่ระบาดทั่วโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.มานะ นิมิตรวานิช ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่เป็น Megatrend ของโลก
เช่น กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หรือ The Great Reset ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้บริบทของความยั่งยืนบนพื้นฐานของการพัฒนาที่มีความ Greener, Smarter และ Fairer
นอกจากนี้ ยังต้องจับตาท่าทีความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนทางการค้ารอบใหม่ เช่น แนวนโยบายภายใต้ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของจีนที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดโลก
“ธุรกิจไทยต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ในระยะข้างหน้า บริบทใหม่ของโลกที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประเทศมหาอำนาจของโลกให้น้ำหนักกับประเด็นนี้มากขึ้น และอาจมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ภาคธุรกิจไทยจึงต้องเตรียมการรับมือ โดยหันมาดำเนินธุรกิจบนฐานของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น"
รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างจริงจัง อย่างไรก็ดี ปัจจัยแวดล้อมใหม่ก็อาจส่งผลบวกต่อการค้าไทยได้เช่นกัน เช่น แนวนโยบายของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะปรับตัวเข้าสู่กฎกติกาสากลมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาชี้ว่าจะส่งผลบวกต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจน
อีกทั้ง ความตกลง RCEP ที่จะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้า จากสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้น และอานิสงส์จากการค้าระหว่างคู่เจรจาที่จะคึกคักขึ้น
'คนละครึ่ง' ลงทะเบียน 20 ม.ค.นี้ ใครไม่มีสิทธิ์รับเงิน 3,500 บาทบ้าง?
‘เราชนะ’ ลุ้นวันนี้! เงื่อนไขสำคัญ ลงทะเบียน www.เราชนะ.com รับเงินเยียวยาโควิดรอบใหม่
ครม.อนุมัติ 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา 3,500 บาท ลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
'เราชนะ' รับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน กดเป็นเงินสดไม่ได้!
'เราชนะ' สรุปใครได้ 3,500 บาท 2 เดือนบ้าง? ลงทะเบียนอย่างไร เช็คที่นี่!
'ออมสิน' เปิดลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' 23 ม.ค.เคยกู้ 'สินเชื่อฉุกเฉิน' ก็กู้อีกได้!