'พันธมิตรด้านเทคโนโลยี'ความหวังของอียูในยุค“ไบเดน”

'พันธมิตรด้านเทคโนโลยี'ความหวังของอียูในยุค“ไบเดน”

'พันธมิตรด้านเทคโนโลยี'ความหวังของอียูในยุค“ไบเดน” ขณะที่อียูยังคงมองจีนว่าเป็นทั้งศัตรูและหุ้นส่วนในมุมมองแบบนี้จะมีอิทธิพลอย่างไร ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ของ27ชาติสมาชิกอียูกับสหรัฐ

สหภาพยุโรป(อียู)หวังที่จะเป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับสหรัฐภายใต้การบริหารของ“โจ ไบเดน” หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแบนผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีน รวมถึงเทคโนโลยี5จีของบริษัทนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ลดการพึ่งพาอุปกรณ์เครือข่ายราคาถูกของจีนเพื่อรักษาพันธมิตรเอาไว้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

ปี2563 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการดำเนินนโยบายของยุโรปต่อหัวเว่ย ด้วยการกันบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีของจีนรายนี้ออกจากการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลรุ่นที่ 5 ในชาติสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู)แต่ในอีกด้านหนึ่ง อียูและจีนกลับบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายด้านการลงทุนขั้นลึกร่วมกันเมื่อเดือนธ.ค.แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะคิดต่างในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวจะสร้างโอกาสให้แก่บริษัทยุโรปในจีนแต่อาจกระตุ้นกระแสวความไม่พอใจต่ออียูจากรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของนายโจ ไบเดน ที่กำลังจะก้าวขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี วันที่ 20 ม.ค.นี้

“รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดนและรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ยินดีที่จะหารือกับบรรดาประเทศหุ้นส่วนในยุโรปเกี่ยวกับประเด็นที่มีความสนใจหรือวิตกกังวลร่วมกัน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของจีน” เจค ซุลลิแวน ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในรัฐบาลไบเดน ระบุในทวีต ถือเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน พี่เบิ้มแห่งภูมิภาคเอเชีย

แต่ก็เหมือนเจนัส เทพปกรณัมโรมันมีบทบาทในฐานะเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้นและการเปลี่ยนแปลง ภาพลักษณ์ของเทพเจนัสมักปรากฎในลักษณะเทพสองใบหน้า หน้าหนึ่งมองไปยังอนาคต และอีกหน้าหนึ่งมองไปยังอดีตที่ผ่านมา อียูยังคงมองจีนว่าเป็นทั้งศัตรูและหุ้นส่วน จึงเกิดคำถามว่า ในมุมมองแบบนี้จะมีอิทธิพลอย่างไร?ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ของ27ชาติสมาชิกอียูกับสหรัฐภายใต้การบริหารของไบเดน

เมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศยกระดับมาตรการกีดกันบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ โดยพุ่งเป้าไปที่การปิดช่องทางไม่ให้หัวเว่ยเข้าถึงชิปและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจะเพิ่มชื่อบริษัทในเครือหัวเว่ยอีก 38 บริษัทลงในบัญชีดำ ส่งผลให้ยอดรวมบริษัทในเครือหัวเว่ยที่ถูกขึ้นบัญชีดำของสหรัฐมีจำนวน 152 บริษัทโดยบริษัทเหล่านี้ถูกขึ้นบัญชีดำเพราะสหรัฐมองว่า หัวเว่ยอาศัยบริษัทกลุ่มนี้เพื่อฉวยประโยชน์จากเทคโนโลยีของสหรัฐประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ถือว่าหัวเว่ยซึ่งเป็นผู้นำเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 5จีของจีนเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐ โดยสหรัฐอ้างว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจถูกใช้เพื่อทำการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ ขณะที่หัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวมาโดยตลอด

ส่วน“โอลิเวอร์ ดาวเดน” รัฐมนตรีด้านดิจิทัล วัฒนธรรม สื่อและการกีฬาของอังกฤษ บอกว่ารัฐบาลอังกฤษตัดสินใจห้ามการใช้อุปกรณ์ของบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ในเครือข่ายโทรศัพท์มือถือระบบ 5จีของอังกฤษ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลอังกฤษในครั้งนี้ถือเป็นการกลับลำจากมติที่เคยมีก่อนหน้า ซึ่งอนุญาตให้หัวเว่ยมีบทบาทที่จำกัดในเครือข่ายการสื่อสารระบบ 5จีของอังกฤษ

เช่นเดียวกับสวีเดน ที่แถลงว่า ได้สั่งห้ามกลุ่มบริษัทหัวเว่ยและแซดทีอี บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและเครือข่ายการสื่อสารไร้สายของจีน ไม่ให้เข้าร่วมในโครงข่าย5จีเนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

หัวเว่ย ซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์ใหญ่เป็นอันดับ2ของโลก และเป็นผู้นำตลาดด้านโครงข่ายสื่อสารไร้สาย 5จี และแซดทีอี จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ติดตั้งอยู่ก่อนคำสั่งนี้ออกให้หมดภายในวันที่ 1 ม.ค. ปี 2568

ต้นปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรป(อีซี)แนะนำชาติสมาชิกอียูให้หลีกเลี่ยงการพึ่งพาซัพพลายเออร์ด้านเทคโนโลยีจากจีนที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้บางประเทศแบนเทคโนโลยีและอุปกรณ์ของหัวเว่ยทั้งหมด ส่วนบางประเทศเลือกที่จะพึ่งพาแบบจำกัด

เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายหลักของหลายประเทศในอียู ศาลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบของยุโรป ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบงบประมาณและการใช้นโยบายของชาติสมาชิกในอียูทั้งหมด ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่าจะดำเนินการตรวจสอบการติดตั้งเครือข่าย5จีของประเทศสมาชิกทุกประเทศ

กระแสต้านที่เกิดขึ้น ทำให้หัวเว่ยพยายามสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยต่อหน้าสาธารณชน เช่นกรณีของ"อับราฮัม หลิว" รองประธานหัวเว่ยประจำยุโรป ที่ระบุว่า หัวเว่ย มีความสนใจอย่างมากที่จะช่วยยกระดับอียูให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกด้านเครือข่าย 5 จี โดยผู้ให้บริการเครือข่ายในยุโรปควรมีอิสระในการเลือกซัพพลายเออร์ของตนเอง

หลิว กล่าวในการประชุมสุดยอดเว็บไซต์ประจำปี ซึ่งเป็นหนึ่งในงานด้านการพลิกโฉมเชิงดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และออกอากาศทางออนไลน์ โดยมีผู้ชมประมาณ 100,000 คนทั่วโลก

นอกจากนี้ หลิว ยังแสดงความมั่นใจด้วยว่าอียูจะสามารถต้านทานแรงกดดันจากสหรัฐ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะดึงหัวเว่ยออกจากเครือข่าย 5จีทั่วโลกได้

"ผู้นำของสหรัฐพยายามที่จะส่งอิทธิพลในยุโรป โดยเป็นความพยายามที่จะทำให้ประเด็นนี้เป็นการเมือง แต่ชาวยุโรปมีวิธีจัดการกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบของตนเอง”หลิว กล่าว