‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’แข็งค่า’ที่30.04บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’แข็งค่า’ที่30.04บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเริ่มพักฐาน สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำฟื้นตัว ฝั่งเงินบาทกลับแข็งค่าลงในช่วงระหว่างวันและนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยหลังดัชนีหุ้นจีนปรับตัวขึ้น

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.04 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.10 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.93-30.13 บาทต่อดอลลาร์

โดยตลาดการเงินเริ่มพักฐานในคืนที่ผ่านมา ทั้งดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและดัชนี STOXX 600 ของยุโรปต่างปรับตัวมาบวกเพียง 0.04% โดยมีแรงหนุนของหุ้นกลุ่มธนาคารและพลังงานเข้ามาประคอง ขณะที่นักลงทุนไม่รีบร้อนที่จะขายทำกำไรหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายควบคุมการระบาดของไวรัสและส่วนใหญ่แทบไม่เคลื่อนไหวเนื่องจากกำลังรอความชัดเจนของภาพการเมืองสหรัฐ

ด้านสินทรัพย์ปลอดภัย เป็นราคาทองคำที่ฟื้นตัวขึ้นแตะระดับ 1858 ดอลลาร์ต่อออนซ์หลังดัชนีดอลลาร์อ่อนค่า 0.47% กลับมาที่ระดับ 90.0จุด โดยเยนญี่ปุ่น (JPY) แข็งค่าลงต่ำกว่าระดับ 104 เยนต่อดอลลาร์อีกครั้ง สะท้อนภาพนักลงทุนที่ยังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจฝั่งเอเชียแม้ว่าในช่วงนี้จะมีการระบาดของโคโรนาไวรัสในหลายประเทศ ส่วนบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีก็ทรงตัวที่ระดับ 1.15% ไม่ได้สร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับนักลงทุน

ฝั่งเงินบาทกลับแข็งค่าลงในช่วงระหว่างวันและนักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยหลังดัชนีหุ้นจีนอย่าง CSI 300 ปรับตัวขึ้นถึง 2.85% ภายในวันเดียวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 สร้างมุมมองเชิงบวกแม้เงินหยวนจีน (CNY) จะทรงตัวที่6.46 หยวนต่อดอลลาร์ ในระยะสั้นเรามีมุมมองเชิงบวกกับสกุลเงินเอเชีย และเชื่อว่าถ้านักลงทุนเห็นสินทรัพย์ในภูมิภาคนี้ให้ผลตอบแทนดีกว่าฝั่งตะวันตก ก็จะกระจายการลงทุนเข้ามาในเงินบาทไปพร้อมกันด้วย

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.10บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมผันผวนจากทั้งประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ ความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และแนวโน้มการปรับมาตรการอุดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของเฟด

ในฝั่งสินทรัพย์เสี่ยง ดัชนีหุ้นเทคฯ NASDAQ ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 0.3% หลังเผชิญแรงเทขายหนักในวันก่อน ขณะที่ ดัชนี STOXX50 ของยุโรปยังคงย่อตัวลงต่อเนื่องราว 0.2%

 

ส่วนในฝั่ง ตราสารหนี้ ตลาดเลือกที่จะให้น้ำหนักต่อประเด็นทิศทางมาตรการอีดฉีดสภาพคล่องของเฟด โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่เฟด (Bullard และ Rosengren) ต่างมองว่า เฟดจะยังไม่รีบลดการทำคิวอี จนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวชัดเจน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงการแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งมุมมองดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟด ได้ส่งผลให้ ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ย่อลงเล็กน้อย เกือบ 2bps สู่ระดับ 1.13% ซึ่งเมื่อยีลด์ย่อตัวลงก็ไก้ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลง 0.4% สู่ระดับ 90 จุด ส่วน เงินเยนแข็งค่าขึ้น 0.5% แตะระดับ 103.7 เยนต่อดอลลาร์

สำหรับวันนี้ เราคาดว่า ตลาดจะยังคงติดตามประเด็นการเมืองของสหรัฐฯ หลังฝั่งสภาผู้แทนฯ เตรียมถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เป็นครั้งที่สอง นอกจากนี้ ตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลาง โดยในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอดูแถลงการณ์ของประธาน ECB ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในยุคหลัง COVID-19 และ Brexit ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ

ตลาดจะรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ถึงแนวโน้มการปรับมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง แม้ว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวในระยะสั้น จนกว่าปัจจัยเสี่ยงการเมืองสหรัฐฯจะคลี่คลาย

แต่เราเชื่อว่า เงินดอลลาร์ก็พร้อมกลับทิศมาอ่อนค่าลง หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดรวมถึงประธานเฟดส่งสัญญาณไม่รีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง

ซึ่งจะหนุนให้ สกุลเงินอื่นๆ แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะ สกุลเงินเอเชีย ที่มีแรงหนุนเพิ่มจากแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า ทั้งนี้ เรามองว่า ทิศทางเงินบาทอาจผันผวนจากแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศ

ขณะเดียวกัน เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์