‘TEA’ ผนึก3สมาคมไมซ์ เร่งฟื้นตลาด‘เอ็กซิบิชั่น’

‘TEA’ ผนึก3สมาคมไมซ์  เร่งฟื้นตลาด‘เอ็กซิบิชั่น’

ธุรกิจการจัดแสดงสินค้า หรือ “เอ็กซิบิชั่น” ส่งสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดจองพื้นที่จัดงานเดือน ม.ค.-ก.พ.2564 ดูดี ครั้นเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือน ธ.ค. ส่งผลให้ตลาดชะงัก! ผู้จัดงานจำต้องเลื่อนการจัดงานไปอีก 2 เดือน

ทาลูน เท็ง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ กล่าวในฐานะนายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA ว่า กิจกรรมงานแสดงสินค้าในประเทศช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ ตัวเลขแบบออนกราวด์เหลือ “ศูนย์” เพราะผู้จัดงานกังวลกับสถานการณ์โควิดว่าจะทำให้ผู้เข้าชมงานลดน้อยลงจึงเลื่อนการจัดงานออกไปก่อน จากปกติช่วงเวลาดังกล่าวมีอัตราใช้พื้นที่ (Occupancy) ไม่ต่ำกว่า 60%

สมาคมฯ หวังว่าตลาดจัดแสดงสินค้าจะฟื้นตัวในเดือน มี.ค. ซึ่งเข้าสู่ “ไฮซีซั่น” ซึ่งปีปกติเริ่ม มี.ค.-พ.ย.มีอัตราการใช้พื้นที่เกิน 70% ขณะที่่ช่วงโลว์ซีซั่นกลาง ธ.ค.-กลาง ก.พ.มีไม่ต่ำกว่า 50% 

สำหรับปี 2563 ภาพรวมตลาดจัดแสดงสินค้าในประเทศหดตัวเหลือ 20% จากปี 2562 ขณะที่ตลาดแสดงสินค้าจากต่างประเทศเป็นศูนย์ แม้มีรูปแบบการจัดงาน “ไฮบริด” ผสานออนไลน์แต่ก็ไม่สามารถชดเชยได้

“ตลาดจัดแสดงสินค้าในไทยปี 2564 ความท้าทายน้อยลงจากปีที่แล้วเพราะมีความหวังเรื่องวัคซีน การเดินหน้าวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ที่ผ่านมากจะกลายเป็นวิถีปกติ (Normal) ให้ต้องปฏิบัติในปีนี้ และต้องเตรียมตัวให้พร้อมรอรับงานใหม่ที่จะเข้ามาในเร็วๆ นี้ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการรุกออนไลน์ ต้องเร่งเพิ่มทักษะบุคลากร”

สมาคมฯ ยืนยันว่าปัจจุบัน “ยังคงจัดงานแสดงสินค้าได้” เพียงแต่ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อ “ความปลอดภัย” ตามแนวทางของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) และ กระทรวงสาธารณสุข โดย TEA และสมาคมต่างๆ รวมทั้งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) ร่วมมือเชิงรุกจัดทำมาตรการให้ ศบค.ผ่อนปรน ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.จนถึงปลายปีที่แล้ว ซึ่งช่วยควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างดี

เมื่อมีการระบาดรอบใหม่ มาตรการที่เตรียมไว้แล้วนำมาใช้ได้ทันที แต่อาจเพิ่มเติมเรื่องการเดินทางของนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ (MICE : การจัดประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) เข้าไทย เนื่องจากปีที่แล้วยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด แต่ปีนี้เริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการจาก 4 สมาคม ได้แก่ TEA, สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ TICA, สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) พร้อมด้วยทีเส็บ ต้องทำงานเชิงรุก เตรียมมาตรการรองรับการเข้ามาของวัคซีนว่าจะมีการผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศอย่างไรบ้าง

“นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมีกำลังจ่ายเรื่องวัคซีนและเข้าถึงได้เร็วต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป เราต้องเตรียมมาตรการรองรับจุดนี้ เพราะทันทีที่ไทยควบคุมการแพร่ระบาดรอบใหม่ได้ในเดือน ก.พ.จะได้เริ่มรับนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ มี.ค. และเห็นชัดขึ้นในไตรมาส 2 เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจจัดแสดงสินค้า นักธุรกิจยังต้องเจรจากันแบบเฟซทูเฟซ (Face to Face) ขณะที่นักท่องเที่ยวทั่วไปคาดเริ่มเดินทางเข้าไทยไตรมาส 3 ของปีนี้”