สมาคมทุเรียนไทย ยันทุเรียนไทยไม่ติดโควิด-19

สมาคมทุเรียนไทย ยันทุเรียนไทยไม่ติดโควิด-19

สมาคมทุเรียนไทยยันทุเรียนไทย ไม่ติดโควิด-19 หลังตรวจสอบไปยังจีนไม่มีปัญหา อ้างสื่อเข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมผนึกทุกภาคส่วนดูแลความปลอดภัยตั้งแต่แหล่งผลิตยันปลายทาง ยอมรับผลผลิตทุเรียนกว่า 98% ส่งออกไปยังตลาดจีน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 ม.ค.64 ที่สถานีวิทยุ ม.ก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สถาบันคลังสมองเกษตรยุคใหม่ มูลนิธิมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสถานีวิทยุ ม.ก. และวารสารเคหเกษตร เคหเกษตร ออนไลน์ จัดเสวนาออนไลน์ผ่านรายการ ”คลังสมองเกษตรยุคใหม่” ทางสถานีวิทยุ ม.ก. ในหัวข้อ” วิกฤติโควิด-19 เกษตรกรรมไทยจะไปต่ออย่างไร”

วิทยากรประกอบด้วย ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภา ม.เกษตรศาสตร์และกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังไทย อ.กิตติ ชุณหวงศ์ ผู้จัดการสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาล ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศ และนายภานุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทย โดยมีนายเปรม ณ สงขลา เจ้าของและบรรณาธิการวารสารเคหเกษตร/เคหเกษตร ออนไลน์ ดำเนินการเสวนา

161046170972

การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดการเสวนา โดยกล่าวว่าวิกฤติโควิด-19 เกษตรกรรมไทยจะไปต่ออย่างไรนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากและท้าทายภาคการเกษตรไทย ซึ่งเกษตรศาสตร์มีความโดดเด่นในด้านการเกษตร ตนเองพูดหลายครั้งในหลายเวทีว่าการเกษตรไทยเท่านั้นที่ช่วยประเทศชาติให้ยั่งยืนได้

“วิกฤติโควิดผมกลับมองว่าจะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นอย่างชัดเจนในเรื่องการเกษตร ขอเรียนว่าเกษตรศาสตร์จะใช้พลังองคาพยพทั้งหมดที่มีอยู่เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น เกษตรศาสตร์ขับเคลื่อนให้เกษตรกรข็งแรงเมื่อไหร่ เกษตรศาสตร์ก็จะแข็งแรงตามเมื่อนั้น สิ่งที่ตามมาประเทศไทยก็จะแข็งแรงตามไปด้วย”อธิการบดีม.เกษตรฯกล่าวย้ำ


จากนั้น ศ.ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังไทยกล่าวถึงปัญหาของมันสำปะหลังว่าหลังเกิดจากการระบาดของโรคใบด่างจากไวรัสในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันเป็นอย่างมาก ขณะการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ทันท่วงที

“วันนี้มันสำปะหลังนอกจากราคาตกต่ำแล้วยังเจอปัญหาขาดแคลนแรงงานอีก โรคระบาดอีก ยิ่งเจอการแบนสารกำจัดวัชพืชก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเข้าไปอีก รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ให้เกษตรกรตกปลาเองอย่างแจกปลาให้เกษตรกร ทำอย่างไรให้เกษตรเข้มแข็ง ให้พวกเขาอยู่ได้”

ส่วนพืชทุเรียนที่กำลังเจอปัญหากระแสข่าวทางการจีนห้ามนำเข้าในขณะนี้ หลังตรวจพบโควิด-19ในทุเรียน โดยเรื่องนี้ นายภานุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทยก็ได้ออกมาปฎิเสธว่าไม่เป็นความจริง แต่อย่างใด เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ตนได้ชี้แจงทำความเข้าใจไปแล้ว

161046178841
นายภานุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทย

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าผลผลิตทุเรียนกว่า 98% ส่งออกไปยังตลาดจีน ฮ่องกงและเวียดนาม ส่วนที่เหลือเป็นตลาดยุโรป อาหรับและอเมริกา โดยมีมูลค่า 6-7 หมื่นล้านต่อปี

“ข่าวที่ว่าล่งจีนทุบราคา อาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ภาพรวมล่งตอนนี้ก็มีความหวังดี ไม่ได้มากดราคาทำร้ายกันแต่อย่างใด จันทบุรีมีอยู่กว่า 500 ล่ง ตราด 20 ล่งและระยองอีก 50 ล่งก็มาช่วยกัน ส่วนข่าวทุเรียนติดโควิดก็ไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องของการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน ซึ่งก็ได้แจ้งไปยังนักข่าวแล้วเช่นกัน”นายกสมาคมทุเรียนไทยกล่าว

ส่วนการเตรียมความพร้อมการดูแลสวนทุเรียนนั้น นายภานุศักดิ์เผยว่าขณะนี้ทางสมาคมฯได้แจ้งไปสมาชิกเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้เตรียมความพร้อมดูแลสวนก่อนผลผลิตจะออกในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โดยเน้นทำความสะอาดภายในสวน เป็นมาตรการให้เกษตรกรสมาชิกปฏิบัติ และยังมีการถ่ายทำเป็นคลิปวิดีโอให้กับทางกระทรวงต่างประเทศเพื่อส่งไปยังต่างประเทศที่เป็นลูกค้าได้พิจารณาด้วย

“เมื่อวาน(11 ม.ค.)ได้เข้าไปคุยกับทางผู้ว่าฯจันทบุรีเตรียมออกมาตรการสร้างความเชื่อมันให้ผู้บริโภคในจีน ตามมาตรการโควิดแคร์ ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง อย่างตู้คอนเทนเนอร์มารับทุเรียนที่ระยองหรือจันทบุรี จะฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าออก พร้อมออกใบรับรองให้ด้วย”


ขณะที่ ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่าเหตการณ์โควิดจะเป็นพลิกวิธีการบริหารจัดการสื่อสารการเกษตรประเทศไทยใหม่ หมดยุคที่พูดเรื่องจะผลิตอะไร ทำอะไร แต่ต้องมกลับมาดูว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งในอนาคตระยะยาวสินค้าเกษตรทุกชนิดจะต้องผ่านมาตรฐานจีเอพี(GAP) จีเอ็มพี(GMP) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

“อย่างข้าว เวียดนามตอนนี้ลดพื้นที่ข้าวลง สู่เมียนมาร์ไม่ได้ เมียนมาร์เองมีพื้นที่ปลูกข้าวแถบลุ่มอิระวดีกว่า 4 แสนตารางกิโลเมตรแล้วยังผลิตข้าวไฮบริดคุณภาพสูงด้วย เราเองก็มองว่าข้าวไม่ใช่แมสแล้ว ต้องมองสารสกัดจากข้าว ข้าวอินทรีย์มากขึ้น”เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศกล่าวย้ำ

ส่วนพืชอ้อยนั้น อ.กิตติ ชุณหวงศ์ ผู้จัดการสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาล ยอมรับว่าไม่ค่อยมีปัญหา เนื่องจาก ทั้งตัวเกษตรกร โรงงานและภาครัฐที่มีความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ติดปัญหาเดียวเรื่องขาดแคลนแรงงาน เพราะหากนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนก็เป็นปัญหา เนื่องจากสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยบ้านเราส่วนใหญ่เป็นแปลงเล็ก ไม่เอื้ออำนวยในการใช้เครื่องจักร