เมื่อหุ้นเทคฯ ครองตลาดหุ้น สร้างความคาดหวังบนราคา

เมื่อหุ้นเทคฯ ครองตลาดหุ้น   สร้างความคาดหวังบนราคา

ปฎิเสธไม่ได้ว่าช่วง 2 สัปดาห์หลังเปิดทำการซื้อขายตลาดหุ้นไทย ดัชนีแม้จะยังทรงตัวที่ระดับ 1,520 จุดยังไม่ปรับตัวลดลงไปแรงจนหลุด 1,500 จุด

ได้รับแรงหนุนจากหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหรือธุรกิจที่ปรับตัวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นจนทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมาแบบไม่ธรรมดา

ปรากฎการณ์ที่ทำเอานักลงทุนฮือฮา หนีไม่พ้นหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่แรงข้ามปี ซึ่งมี หุ้นบริษัท เดลต้า  อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA  ที่ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจในกลุ่มนี้มากขึ้น

ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาทำนิวไฮ 838 บาท ( 28 ธ.ค. 2563)   เป็นการบวกจากราคาต้นปี 2563 ถึง  781 บาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 15 เท่า   จนกลายเป็นหุ้นที่ชี้นำดัชนีตลาดหุ้นไทยขึ้นหรือลงตามราคาหุ้นในวันนั้นๆ ได้  

แม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะสกัดความร้อนแรงของราคาหุ้นด้วยการใช้เกณฑ์ซื้อขายบัญชีเงินสด (Cash Balanc ) ระดับที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 6 -26 ม.ค. 2564  แต่ราคาหุ้นยังสามารถกลับมาเพิ่มขึ้นได้จนราคากลับมาที่สูงสุดของวันระดับ 804 บาท  (11 ม.ค. 2564) 

ท่ามกลางตลาดหลักทรัพย์เตรียมประกาศใช้เกณฑ์คุมเข้มหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำ ซึ่งมีหุ้น DELTA รวมอยู่ในนั้นด้วย  ซึ่งประเด็นที่หนุนราคายังมีผู้ซื้อในระดับอัตราส่วนกำไรต่อหุ้นต่อราคาปิด (P/E) แพงระยับถึง 151 เท่า มาจากการดำเนินธุรกิจผลิตสินค้าป้อนกลุ่มเทคโนโลยีและดิจิทัล   

หรือแม้แต่การเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน อย่าง รถยนต์อีวี จากการที่ DELTA ได้เทคโนโลยีผลิตที่ชาร์ทแบตเตอรี่   ล้วนแต่เป็นธุรกิจอนาคตที่ทำให้เกิดความคาดหวังว่าจะสร้างรายได้มหาศาลให้กับบริษัท

โดยยังมีหุ้นในกลุ่มเดียวกันทั้ง บริษัท เคซีอี  อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KEC รายใหญ่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้งานในกลุ่มอีวี    หรือ บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA  เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สมาร์ทไอทีให้กับแบนรด์ใหญ่ระดับโลก  ได้รับอานิสงค์ดีไปด้วย

นอกจากกลุ่มนี้แล้วธุรกิจที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจอนาคตไม่ว่าจะเป็น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์  จำกัด (มหาชน) หรือ EA  ที่เดินหน้าโรงงานแบตเตอรี่   หรือบริษัทลูก บริษัท เน็กซ์พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX  ที่จะเป็นผู้เข้าประมูลโครงการอีวีของภาครัฐ  ล้วนทำราคาสลับบวกกันอย่างร้อนแรง

เทรนการมาธุรกิจดังกล่าวเห็นได้ชัดตั้งแต่มีล็อกดาวน์ทั่วโลก เพื่อป้องกันการระบาดโควิด ทำให้มีการหันมาใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น  จนตลอดปี 2563  มีผลผลักดันดัชนี ตลาดหุ้นสหรัฐ  NASDAQ  บวกขึ้นสวนทางการติดเชื้อโควิด-19 จนสามารถปิดสิ้นปีบวกไป 17 %   

ด้วยตลาดหุ้นสหรัฐมีหุ้นกลุ่มนี้จำนวนมากและเป็นอันดับต้นๆของโลกทั้ง Microsoft (MSFT) ผู้พัฒนาซอฟแวร์คอมพิวเตอร์  ,  Apple (AAPL) ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์แอปเปิ้ล

Amazon (AMZN)  ยักษ์ใหญ่อันดับ 1 อีคอมเมิร์ชของโลก    ,Facebook (FB)  ผู้พัฒนาสังคมโซเซียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานอันดับ 1 ของโลก   ,Netflix (NFLX) ผู้ให้บริการบันเทิงทางอินเตอร์เน็ต ผ่านระบบสตีมมิ่ง   หรือ Alibaba Group Holdings (BABA )  คุมตลาดอีคอมเมิรช์ทั่วโลกทั่วโลก  หรือแม้แต่หุ้น  Tesla หรือ  เทสลา  ของ อีลอน มักสก์ ก็ขึ้นแท่นบริษัทขนาดใหญ่หลังจากราคาหุ้นเพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่า มูลค่าบริษัทเพิ่มจาก 7.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต้นปี 2563พุ่งขึ้นไปถึง 6.69 แสนล้านดอลลาร์ในช่วงปลายปี โดยราคาหุ้นสูงกว่า 700 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึง 743%เป็นต้น 

จากปัจจัยข้างต้นเมื่อดูผลตอบแทนของกลุ่มดังกล่าวเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ (อิงดัชนี MSCI ACWI INDEX)  เห็นได้ว่าผลตอบแทนในกลุ่มไอทีบวกขึ้นอันดับ 1 ถึง  44.55 %  ในปี 2563   และยังมีผลต่อดัชนี 22.09  %

สำหรับไทยยอมรับว่าแทบไม่มีหุ้นที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี แต่เป็นผู้ผลิตหรือซัพพรายเชนรายใหญ่ระดับโลกจำนวนมาก แต่ในอนาคตเริ่มมีธุรกิจที่ มูฟ ออน เข้าสู่เทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น และประเด็นดังกล่าวได้กลายเป็นแรงเสริมที่มีความคาดหวังพร้อมที่ดันราคาหุ้นในกลุ่มนี้ขึ้นมาเช่นกัน