'KTC' ปั้น 2 เศรษฐี 'หุ้น' หมื่นล้าน หน้าใหม่!

'KTC' ปั้น 2 เศรษฐี 'หุ้น' หมื่นล้าน หน้าใหม่!

รู้จัก 2 เศรษฐี "หุ้น" หมื่นล้าน และแนวทางการลงทุนที่หลังจาก ราคาหุ้น "KTC" เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในปี 2564

ราคาหุ้น KTC ที่เพิ่มขึ้นอย่างร้อนแรงในปี 2564 ทำให้นักศึกษาวิศวกรรมโยธา มงคล ประกิตชัยวัฒนา ที่ผันตัวมาเป็นนักลงทุน กลายเป็นมหาเศรษฐีหุ้นด้วยความมั่งคั่งกว่า 3 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับ เฮียฮง สถาพร งามเรืองพงศ์ ที่เริ่มต้นลงทุนหลักแสนกลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านบาท ในห้วงเวลาไม่ถึง 10 ปี

การเพิ่มขึ้นของราคาหุ้น บริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KTC เพียงแค่ 1 เดือนย้อนหลัง ราคาขยับขึ้นจาก 53.25 บาท มาสูงสุดที่ 90.25 บาท เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ก่อนจะย่อเล็กน้อยมาปิดที่ 79 บาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 48%

แต่เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้นักลงทุนโลว์โปร์ไฟล์คนหนึ่งที่ชื่อ มงคล ประกิตชัยวัฒนา กลายเป็นมหาเศรษฐี 3.07 หมื่นล้านบาทขึ้นมาในทันที ด้วยจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ใน KTC จำนวน 388,669,300 หุ้น เป็นอันดับ 2 รองจากธนาคารกรุงไทย ที่ถืออยู่กว่า 1,280 ล้านหุ้น (ภาพรวมข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 25/05/2563)

มงคล ประกิตชัยวัฒนา เป็นอดีตนักศึกษาจากคณะวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปัจจุบันยึดอาชีพนักลงทุน เขาเข้ามาถือหุ้น KTC ตั้งแต่ปี 2555 จำนวนราว 29.6 ล้านหุ้น และเพิ่มเป็น 33.8 ล้านหุ้นในปี 2556 ก่อนที่ปี 2557 จะลดจำนวนลงมาเหลือ 17.20 ล้านหุ้น และเพิ่มเป็น 20.8 ล้านหุ้นในปี 2558 ขยับเป็น 25.9 ล้านหุ้นในปี 2559 และเพิ่มเป็น 42.7 ล้านหุ้นในปี 2560

ในปี 2561 KTC แตกพาร์จาก 10 บาท เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้น KTC ที่ มงคล ประกิตชัยวัฒนา ถืออยู่เพิ่มเป็น 10 เท่า ซึ่งระหว่างทาง 2562-2563 เขามีการซื้อๆ ขายๆ หุ้นออกมาบ้าง จนวันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดเมื่อ 25 พ.ค.2563 เขาถืออยู่ 388,669,300 หุ้น

มองในแง่มูลค่าของหุ้น KTC ในพอร์ตของ มงคล ประกิตชัยวัฒนา ตั้งแต่ปี 2555 พบว่าเพิ่มต่อเนื่องจาก 918 ล้านบาท เป็น 1,006 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 1,101 ล้านบาทในปี 2557 และเพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2558 เป็น 2,033 ล้านบาท ในปี 2559 มูลค่าพอร์ตเพิ่มเป็น 3,574 ล้านบาท และปี 2560 อยู่ที่ 7,942 ล้านบาท

ไม่ใช่เพียงแค่หุ้น KTC เท่านั้น เขายังถือหุ้นอีก 3 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ประกอบด้วย 1.บริษัท  ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD จำนวน 29,053,900 หุ้น มูลค่า ณ 11 ม.ค. 2564 อยู่ที่ 534,591,760 บาท (ราคาปิด 18.40 บาท) 2. บริษัทไรมอนแลนด์ จำกัด(มหาชน) หรือ RML จำนวน  170,630,000 หุ้น มูลค่า 110,909,505 บาท (ราคาปิด 11 ม.ค.2564 ที่ 18.40 บาท) และ 3. บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN จำนวน  23,222,200 หุ้น มูลค่า 260,088,640 บาท(ราคาปิด 11 ม.ค.2564 ที่ 11.20 บาท)

ไม่เพียงแค่ มงคล ประกิตชัยวัฒนา เท่านั้นที่ร่ำรวยจากการลงทุนใน หุ้น KTC ยังมีอีก 1 คน คือ สถาพร งามเรืองพงศ์ หรือ เฮียฮง ผู้ถือหุ้น KTC ลำดับที่ 3 ด้วยจำนวน 128,509,000 หุ้น (ณ วันปิดสมุดทะเบียนล่าสุดเมื่อ 25 พ.ค.2563) มุลค่ารวม 10,152 ล้านบาท (ราคาปิด KTC วันที่ 11 ม.ค.2564 ที่ 79 บาท)

สถาพร งามเรืองพงศ์ เริ่มเข้าสู่วงจรการลงทุนในตลาดหุ้นตั้งแต่อายุ 19 ปี ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1 แสนบาท การลงทุนประสบความสำเร็จด้วยกลยุทธ์พื้นฐาน 70% และ เทคนิค 30% เป็นเซียนหุ้นที่สื่อหลายๆสำนักข่าวตั้งฉายาว่า “เซียนหุ้นอัจฉริยะ” หรือ “หุ้นพอร์ตระเบิด” หรือหุ้นที่กำไรแบบก้าวกระโดด

เขายังใช้เวลาที่มีน้อยนิดในช่วงนั้น เขียนบล็อค ทำคลิป เขียนหนังสือพ็อคเก็ตบุค เพื่อแนะนำการลงทุน นอกเหนือจากการให้สัมภาษณ์สื่อที่ทำเป็นประจำ 

ในปี 2556 เขาเริ่มหายออกไปจากหน้าสื่อ ก่อนจะเปิดตัวอีกครั้งในปี 2562 เฮียฮง บอกว่าหายไปไปเที่ยวรอบโลก เพราะเมื่อสำเร็จในการลงทุน ก็ออกไปใช้ชีวิต ให้รางวัลกับชีวิต แม้จะออกจากสื่อไปนาน หลักการการลงทุนยังไม่เคยเปลี่ยน เพราะเขาเชื่อว่า ยังใช้ได้ตลอด แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือกลยุทธ์การลงทุน ที่เปลี่ยนมาดูพื้นฐาน 99% เพราะพอร์ตหุ้นที่ใหญ่ขึ้น ข้อจำกัดในการใช้เทคนิคมีมากขึ้น

ปี 2562 ที่กลับเข้ามาในตลาดหุ้นรอบใหม่ มาพร้อมปรัชญาการลงทุนใหม่ การเตรียมรับมือกับความผันผวนของสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วงเวลา มีการเปรียบเทียบผลตอบแทนในการลงทุนประเภทต่างๆ ที่ไม่เจาะจงเฉพาะต้องทนลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น 

สำหรับหุ้น KTC ที่นำพาให้เขากลายเป็นเศรษฐีหุ้นหมื่นล้าน สถาพร งามเรืองพงศ์ เริ่มมีชื่อปรากฎเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ KTC ครั้งแรกเมื่อการปิดสมุดทะเบียน วันที่ 7 มี.ค.2556 ด้วยจำนวนหุ้น 1,763,400 หุ้น และจากนั้นก็มีการซื้อเพิ่มมาตลอดจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ในปัจจุบัน

สถาพร งามเรืองพงศ์  เคยบอกถึงเหตุผลที่เลือกลงทุนใน KTC ว่า KTC เป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อ มีจุดเด่นไม่ต้องกังวลเรื่องดีมานด์ ทุกคนต้องการเงิน ต่างจากธุรกิจอื่นๆ เวลาลงทุนอยากได้บริษัทที่เรามั่นใจว่า Top Line เขาโตได้แน่ๆ และสามารถคุมความเสี่ยงเรื่องหนี้เสียได้

ในรอบเกือบ 10 ปี สถาพร งามเรืองพงศ์ เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในหลายๆบริษัท เช่น THCOM, SGP, SABINA, RS, NOBLE, NMG, IVL, EKH, DOHOME, BFIT, AUCT, ANAN, AMANAH และ AEONTS

แต่ปัจจุบันเขาถือหุ้นใน 4 บริษัทเท่านั้น ประกอบด้วย DOHOME จำนวน 31,796,500 หุ้น IVL จำนวน 83,658,700 หุ้น KTC จำนวน 128,509,000 หุ้น และ NOBLE จำนวน 14,986,200 หุ้น

สุดท้าย สถาพร บอกว่า ในวันที่หุ้นลงมากๆ เคยยืมทองคำของแม่มาขาย เพื่อโปะพอร์ตหุ้น ทำให้เป็นบทเรียนสำคัญว่า การลงทุนต่อไปจะต้องสำรองเงินสดให้พร้อมไว้เสมอ