‘เอไอเอส’ ดัน 'โซลูชั่นใหม่' เสิร์ฟ 'เอสเอ็มอี'

‘เอไอเอส’ ดัน 'โซลูชั่นใหม่' เสิร์ฟ 'เอสเอ็มอี'

ชูบริการครบวงจร ตอบโจทย์ทุกมิติการใช้ชีวิต-ธุรกิจ

“วิกฤติโควิดเป็นมหันตภัยที่สร้างความเสียหายและเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตไปโดยสิ้นเชิงแล้ว สำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี แม้จะเป็นกลุ่มธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็นำมาซึ่งโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจด้วยเครื่องมือดิจิทัล”

สำหรับเอไอเอส มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 3 ด้าน ประกอบด้วย เครือข่ายเอไอเอส 5จี, เน็ตบ้านเอไอเอสไฟเบอร์ พร้อมมีบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตและธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอี 

เขากล่าวว่า แนวทางธุรกิจมุ่งนำเสนอโซลูชั่นที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์การใช้งานจริง ราคาคุ้มค่า ครอบคลุมทั้งโซลูชั่นด้านการสื่อสาร บรอดแบนด์ ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ดิจิทัลโซลูชั่นสำหรับการทำงานและบริหารจัดการ อีเซอร์วิส สิทธิพิเศษเสริมอื่นๆ พร้อมรองรับโอกาสการเติบโตใหม่ๆ การสร้างยอดขาย และการผนึกกำลังเป็นพันธิมิตทางธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ

ปัจจุบัน ลูกค้าเอ็นเตอร์ไพร์มีสัดส่วนรายได้ใหญ่ที่สุดในกลุ่มลูกค้าองค์กร แต่ที่เติบโตอย่างมากโดยเติบโตได้เป็นตัวเลขสองหลักคือเอสเอ็มอี และปีนี้คาดว่าการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของลูกค้ากลุ่มนี้จะยิ่งเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยภาพรวมกลุ่มลูกค้าองค์กรสร้างสัดส่วน 10% ของรายได้รวม

ไอดีซี ระบุว่า ปี 2563 การลงทุนทางดิจิทัลของภาคธุรกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้เกิดสถานการณ์โควิดแต่การเติบโตยังสูงขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก ธุรกิจมีความตื่นตัว ทว่าการลงทุนจะเลือกโซลูชั่นที่เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการสร้างความต่อเนื่องให้กับธุรกิจ

พร้อมระบุว่า การทำธุรกิจเอสเอ็มอียุคใหม่ ไม่มีสูตรสำเร็จเหมือนในอดีต ขึ้นอยู่กับว่าจะกล้าพลิกเกมจากความท้าทาย ปัญหา หรืออุปสรรคที่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้อย่างไร เพราะบนโลกยุคดิจิทัล การแข่งขันชี้วัดกันที่ “Speed” และ “Spirit” ที่จะเปลี่ยนบิสิเนสโมเดลด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลอย่างชาญฉลาด ทั้งการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต รวมถึงการบริหารจัดการภายในที่ต้องต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ

ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอี 3.1 ล้านราย สร้างผลกระทบต่อจีดีพี 43% มีส่วนสำคัญต่อการจ้างงาน 13 ล้านคน สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รายงานสถานการณ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดเมื่อปี 2563 ว่า 61.4% ยังไม่มีช่องทางการขายผ่านออนไลน์ ทว่ามีถึง 79.3% ที่สามารถรับชำระเงินผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว สำหรับ 38.6% ที่มีช่องทางขายบนออนไลน์ ที่ขายดีที่สุดคือ เฟซบุ๊ค ไลน์ และเว็บไซต์