‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ ที่30.17บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ ที่30.17บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินเริ่มปรับฐาน นักลงทุนขายทำกำไรหุ้นกังวลเรื่องการแบนทรัมป์ ระยะสั้นอ่อนค่าบนแรงกดดันของเงินดอลลาร์เช่นกัน ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงในไทยเพิ่มเติม

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.17 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.15 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.12-30.32 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเริ่มปรับฐานเนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรหุ้นที่ปรับตัวบวกรวดเร็วช่วงต้นปี ขณะเดียวกันก็มีความกังวลเรื่องการแบนโดนัลด์ ทรัมป์จากกลุ่มเทคโนโลยีใหญ่ที่ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงขอบเขตอำนาจของบริษัทเหล่านี้ กดดันดัชนี Nasdaq ให้ปรับตัวลงถึง 1.25% ฉุดดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ และ ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปให้ย่อตัวลง 0.6% และ 0.7% ตามลำดับ

ภาพตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าสู่ระดับสูงที่สุดในรอบสามสัปดาห์ โดยสกุลเงินความเสี่ยงสูงอย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) และดอลลาร์นิวซีแลนด์ (NZD) ปรับตัวลง 0.6-0.9% ขณะที่บิทคอยน์ร่วงลง 8% มาที่ระดับ 35500 ดอลลาร์เช้านี้ อย่างไรก็ดี บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีกลับปรับตัวลงเพียง 1bps มาที่ระดับ1.13% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI และราคาทองเปลี่ยนแปลงไม่มาก สะท้อนภาพว่าการปรับฐานของหุ้นครั้งนี้ ไม่ได้มาจากมุมมองของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ด้านเงินบาท ระยะสั้นอ่อนค่าบนแรงกดดันของเงินดอลลาร์เช่นกัน ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงในไทยเพิ่มเติม ขณะที่ผู้ส่งออกก็ไม่รีบร้อนที่จะขายเงินดอลลาร์ สำหรับวันนี้ยังคงแนะนำจับตาทิศทางของตลาดทุนเป็นหลัก เชื่อว่าถ้าตลาดเอเชียปรับฐาน ก็จะกดดันให้สกุลเงินตลาดเกิดใหม่ (EM) และเงินบาทอ่อนค่าได้ต่อ

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.05-30.20 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง จากทั้ง ความกังวลว่าราคาสินทรัพย์อาจแพงเกินไป หลังจากที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องและความวุ่นวายของการเมืองสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนลดสถานะการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงกดดันให้ ตลาดหุ้นโดยรวมย่อตัวลง โดย ดัชนีหุ้น S&P500 ของสหรัฐฯ และดัชนี STOXX50 ของยุโรปต่างปิดลดลง0.7% ขณะที่ ดัชนีหุ้นกลุ่มเทคฯ อย่าง Nasdaq ก็ปรับตัวลดลงกว่า 1.3% สะท้อนถึงแรงขายหุ้นกลุ่มเทคฯที่ตลาดกังวลว่าราคาอาจแพงไปมากในปัจจุบัน   

อย่างไรก็ดี การปิดรับความเสี่ยงกลับไม่ได้ช่วยให้ นักลงทุนเข้าถือพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯ ที่ตลาดต่างคาดว่า รัฐบาลจะต้องทยอยออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 2bps สู่ระดับ 1.14% นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ทำให้สินทรัพย์ในฝั่งสหรัฐฯมีความน่าสนใจและหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.50จุด ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลง 0.2% สู่ระดับ 104.2%

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของยีลด์ 10ปีสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลง 0.2% สู่ระดับ 1844 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สะท้อนว่า เงินดอลลาร์กลับมาเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แทนที่ทองคำในช่วงที่ตลาดมีทา่ทีระมัดระวังตัว ไปพร้อมกับยีลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

สำหรับวันนี้ เราคาดว่า ตลาดจะยังคงติดตามสถานการณ์การเมืองของสหรัฐฯ หลังฝั่งสภาผู้แทนฯ (House of Representatives) เตรียมที่จะลงมติเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ก่อนวาระ ขณะเดียวกัน ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก ก็จะยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในระยะสั้น

นอกเหนือจากประเด็นความเสี่ยงดังกล่าว เราคาดว่า ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Brainard, Bostic, Kaplan และ Rosengren ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน โดยเฉพาะประเด็น มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ที่อาจส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ หากเจ้าหน้าที่เฟดเริ่มส่งสัญญาณว่าอาจถอนมาตรการดังกล่าวได้เร็วกว่าที่ตลาดมองไว้

ดังนั้น ในระยะสั้น เราคงมองว่า ภาพตลาดที่ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว จะช่วยหนุนให้ เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออาจแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น จนกว่าปัจจัยเสี่ยงจะคลี่คลายลง นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ รวมถึงราคาทองคำที่ปรับตัวลดลง อาจกดดันให้เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า แต่เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก หากนักลงทุนต่างชาติยังไม่ลดการถือครองสินทรัพย์ไทยอย่างมีนัยสำคัญอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกก็ต่างรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์