“เอ็กโก”คิกออฟนิคมใหม่ระยอง ดันธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ

“เอ็กโก”คิกออฟนิคมใหม่ระยอง ดันธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ

พื้นที่โรงไฟฟ้าเก่าของเอ็กโก กรุ๊ป ใน จ.ระยอง กำลังจะถูกพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับเอ็กโก โดยเฉพาะธุรกิจในกลุ่มพลังงานอัจฉริยะที่เป็นแนวโน้มการลงทุนในอนาคตของธุรกิจพลังงาน

โดยเอ็กโก กรุ๊ป ได้ลงนามกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพื่อร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าว

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ว่า เอ็กโก กรุ๊ป มุ่งมั่นขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการผลิตและให้บริการด้านพลังงาน ครอบคลุมธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งยังคงเป็นธุรกิจหลัก และการลงทุนใหม่ในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง นับเป็นหนึ่งในธุรกิจ Smart Energy Solution ที่บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะสีเขียว ที่มีความพร้อมทุกด้าน 

ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาลงทุนและทำการวิจัย พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจร่วมกัน ตามแนวทางของนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชนและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทในการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืนในฐานะที่เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI)

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีพื้นที่รวมประมาณ 621 ไร่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภค ประมาณ 2 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2565 โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักประเภท S-Curve และ New S-Curve ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ เป็นต้น

161037658565

สำหรับ โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ท่อน้ำดิบ สายส่งและสถานีไฟฟ้าแรงสูง เป็นต้น รวมถึงมีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้งที่มีเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่มีศักยภาพ และอยู่ในบริเวณที่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของอีอีซีได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยองในอนาคต 

ในขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสให้บริษัทในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและแบบลอยน้ำ (Solar Rooftop & Floating) นอกจากนี้ บริษัทยังมองเห็นโอกาสร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่ทำ ธุรกิจพลังงานอัจฉริยะ" ซึ่งจะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย เช่น โรงงานผลิตแบตเตอรี่หรือระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ Data Center ในพื้นที่โครงการ เป็นต้น

“ในขณะนี้ มีนักลงทุนหลายรายเข้ามาหารือที่จะลงทุนในนิคมฯแห่งนี้ เนื่องจากพื้นที่ อีอีซี มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนสูง มีความพร้องในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทุกด้าน รวมทั้งรัฐบาลก็ให้การสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี เต็มที่ ทำให้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ดีในการลงทุน” เทพรัตน์ กล่าว

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า แม้ว่าทั่วโลกจะประสบกับวิกฤตโควิด-19 แต่นักลงทุนไทยและต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมของไทย ก็ได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด กนอ. ได้เซ็นต์สัญญาร่วมดำเนินงานกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง มีพื้นที่ 621 ไร่

161037663033

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก พร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี โดยคาดว่าเมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 16,840 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มประมาณ 4,210 อัตรา 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ถือเป็นโครงการที่สนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาอีอีซีของรัฐบาล โดยมุ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve ได้แก่ ยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ การบินและโลจิสติกส์ การแพทย์ครบวงจร และเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เป็นต้น

การพัฒนาโครงการนี้ เอ็กโกได้มีการออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หรือ Eco-Industrial โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการและนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการ เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ และยังมั่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่จะสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจ

ส่วนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการจัดสรรที่ดินและขออนุมัติผังแม่บท ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2565