‘สกัดเก่ง’ เขย่าดึง 'ดีเอ็นเอ' จากหิ้งพร้อมสู่สปินออฟ

‘สกัดเก่ง’ เขย่าดึง 'ดีเอ็นเอ' จากหิ้งพร้อมสู่สปินออฟ

“การสกัดดีเอ็นเอ” ด่านแรกในขั้นตอนการเตรียมดีเอ็นเอบริสุทธิ์ ก่อนเข้าสู่การวิเคราะห์ด้วยวิธีต่างๆ ต้องอาศัยเครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูงที่มีราคาถึง 2 แสนบาท ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับชั้นเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ต้องเรียนและวิจัยเกี่ยวกับดีเอ็นเอ

ทั้งนี้ยังรวมถึงหน่วยงานวิจัยต่างๆ ที่มีงบประมาณน้อย ทำให้การเข้าถึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งจากสภาพปัญหาดังกล่าวนำมาสู่การวิจัยและพัฒนา “สกัดเก่ง” ชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนามที่ใช้งานง่ายในราคาถูก และที่สำคัญไม่ต้องใช้เครื่องปั่นเหวี่ยงความเร็วสูงโดย “ธนพัฒน์ แพ่งเกษร” อาจารย์สาขาวิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ปัจจุบันได้จดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

161037318670

“3 ปีที่ผ่านมาได้สอนเทคนิคการสกัดดีเอ็นเอให้กับนิสิต ทำให้มองเห็นปัญหาหลายอย่าง เช่น สารเคมีและวัสดุอุปกรณ์ที่มีอย่างจำกัด เครื่องปั่นเหวี่ยงหรือแม้กระทั่งชุดสกัดสำเร็จรูปที่ใช้เป็นสื่อการสอนก็มีราคาที่แพง 4,500-18,000 บาทตามแต่ขนาด โดยปกติจำเป็นต้องมีการสกัดอย่างน้อย 2-3 ตัวอย่าง ต่อการเรียนหนึ่งครั้ง จึงเกิดการสิ้นเปลืองอย่างมหาศาล ดังนั้น จึงนำทักษะความรู้และอุปกรณ์ที่มีในแล็บมาพัฒนาเป็นชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนาม”

การพัฒนาชุดสกัดดีเอ็นเอภาคสนามของธนพัฒน์ ก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากขั้นตอนการสกัดดีเอ็นเอ ผลงานจึงช่วยให้สามารถทำได้ในแล็บที่มีงบประมาณน้อย ใช้งานนอกสถานที่ได้และทำได้ในตู้ชีวนิรภัย อีกทั้งไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งาน ไม่จำกัดตัวอย่าง ทั้งนี้ ชุดสกัดดีเอ็นเอยังสามารถต่อยอดไปในธุรกิจทางการแพทย์ได้อย่างหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็น ตรวจวินิจฉัยก่อนคลอดเพื่อดูว่าทารกเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ ตรวจโรคติดเชื้อ ตรวจยีนแพ้ยาก่อนได้รับยา ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก ตรวจพยานวัตถุในที่เกิดเหตุและตรวจหาความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง หรือแม้กระทั่งโรคระบาดอย่างโควิด เพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่อาจจะมีโอกาสทำให้เกิดการกระจายเชื้อมากขึ้น

การตรวจโรคทางพันธุกรรมหนึ่งครั้ง จะมีต้นทุนการสกัดดีเอ็นเอที่ร้อยละ 10-50 เมื่อพิจารณาผู้เข้าใช้บริการตรวจโรคธาลัสซีเมีย ทั้งประเทศคิดเป็นประมาณ 1.2 ล้านคน เพียงแค่โรคเดียวเท่านั้นก็จะสามารถประหยัดต้นทุนให้กับประเทศได้มากกว่า 96 ล้านบาทต่อปี

161037321098

ธนพัฒน์ กล่าวว่า โมเดลธุรกิจจะเป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ซึ่งจะมีทั้งในส่วนของโปรดัก และ Licensing เบื้องต้นสามารถเริ่มจำหน่ายได้ภายใน 2-3 เดือนนับจากนี้ ซึ่งจะเป็นในลักษณะ B2B มี 3 ตลาดหลักคือ 1.ตลาดสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ที่มีอยู่กว่า 195 หลักสูตร 2.ตลาดห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ 281 แห่ง 3.ตลาดงานวิจัย ซึ่งตลาดงานวิจัยและตลาดห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เป็นตลาดที่มีการบริโภคที่สูงกว่าตลาดสถาบันอุดมศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดห้องปฏิบัติการฯ จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าราว 200 เท่า

การจะขยายไปสู่ตลาดนี้ อาจจะต้องอาศัยการระดมทุน เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องทำ เช่น การพัฒนาโรงงานต้นแบบที่ได้มาตรฐาน ส่วนเป้าหมายในอนาคต คือการขยายสู่การจำหน่ายให้กับร้านขายยาตรวจยีนก่อนจ่ายยา และโมเดิร์นเทรดซึ่งต้องอาศัยมาตรฐาน IVD kit ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอการรับรอง อีกทั้งวางเป้าหมายขยายสู่ตลาดอเมริกาเหนือซึ่งมีมูลค่าตลาดชุดสกัดดีเอ็นเอค่อนข้างสูง โดยจะเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจรับอนุญาตการใช้สิทธิและไปทำการผลิตเอง​​​

ธนพัฒน์ เล่าว่า ความยากในการดำเนินธุรกิจ คือเรื่องของแหล่งเงินทุน และคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ เนื่องจากทีมวิจัยถือเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาดจึงต้องอาศัยการเข้าร่วมกับโครงการต่างๆ และ Angel Fund มาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ผ่านมาก็ได้ทางสถาบันนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อหาคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ อาทิโครงการ Business Brotherhood โครงการยุวสตาร์ทอัพ (YSF) ในแต่ละโครงการก็จะได้เมนเทอร์ที่ช่วยเปิดมุมมองทางธุรกิจ

1610373224100

ด้วยความเป็นผลงานนวัตกรรมที่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทำให้ “สกัดเก่ง” กลายเป็นที่รู้จักในงาน Thailand Tech show2019 ล่าสุดการันตีด้วยผลงาน 1 ใน 6 ทีมสุดท้ายของโครงการ Startup connect โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมกับกลุ่มลงทุนภาคเอกชน (Venture Capita) รวมถึงบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด (ECG-Research ) ที่จะให้การบ่มเพาะอย่างเข้มข้นพร้อมด้วยทุนพัฒนาส่วนหนึ่ง

161037324245

ส่วนโรดแมพในปี 2564 กำลังจะดำเนินการขอทุน YSF ระยะที่สอง เพิ่มอีก 1.5 ล้านบาท และตั้งใจว่าภายในปีนี้จะสปินออฟออกมาก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว

“จุดเปลี่ยนจากการเป็นนักวิจัยสู่สตาร์ทอัพ ก็ด้วยความที่มีลักษณะเป็นคนช่างคิด ช่างทำและกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งมองว่านอกเหนือจากทุนสนับสนุนที่ได้รับนั้นคือประสบการณ์ และได้เห็นโลกของที่กว้างขึ้น” ธนพัฒน์ กล่าว