โบรกเก็งตลท.ออกเกณฑ์ คุมหุ้นฟรีโฟลทต่ำ

โบรกเก็งตลท.ออกเกณฑ์  คุมหุ้นฟรีโฟลทต่ำ

“โนมูระ พัฒนสิน”ประเมิน 2 มาตรการ ตลท.คุมเข้ม หุ้นฟรีโฟลทต่ำ   “ยกระดับแคชบาลานซ์เข้มงวดขึ้น-เพิ่มปรับเกณฑ์ฟรีโฟลทเข้าSET50-100" ด้าน "ภัทธีรา"ชี้ มีหลายแนวทางดูแล แต่ไม่เห็นด้วย ปรับเกณฑ์ซิลลิ่ง -ฟลอร์ หุ้นสภาพคล่องต่ำ

จากกรณีหุ้น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ DELTA ซึ่งเป็นหุ้นที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาด(ฟรีโฟลท)ต่ำ ราคาเคลื่อนไหวร้อนรอง ซึ่งมีผลต่อการปรับขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้นไทย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)อยู่ระหว่างออกมาตรการดูแลหุ้นฟรีโฟลทต่ำ  

 นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทได้ประเมินมาตรการที่ตลท.จะนำมาดูแลหุ้นฟรีโฟลโฟลทต่ำ โดยการอิงจากการซื้อขายที่ผ่านจะออกมาใน 2 รูปแบบคือการยกระดับการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด (Cash Balance) และการปรับฟรีโฟลทเพิ่มขึ้นในการคัดเลือกหุุ้นเข้าดัชนี 50 และ 100 

สำหรับ Cash Balance ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมี 3 ระดับ คือระดับแรกให้ซื้อขายเฉพาะบัญชีเงินสด ระดับที่ 2 เพิ่มไม่ให้ห้ามโบรกเกอร์ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสูงสุดระดับที่ 3 คือเพิ่มห้ามซื้อขายหักลบในวันเดียว (Net settlement )      

ขณะที่เกณฑ์เพิ่มฟรีโฟลทเพื่อคำนวณดัชนีนั้นคาดว่าอาจจะกำหนดมากกว่า 25% หรือปรับเข้มงวดขึ้นโดยพิจารณาสภาพคล่องการหมุนเวียนของหุ้นภายในรายเดือนที่เข้มขึ้นจากเดิม 5% ลดทีละ 0.5% ลงมาไม่ต่ำกว่า 1% อาจขยับฐานสูงขึ้น เพื่อได้ชุดหุ้นที่มีสภาพคล่องภายในสูง  ซึ่งในกลุ่มนี้มีหุ้นที่ฟรีโฟลท ในกรอบ 20-25% ได้แก่ กลุ่ม  SET50  มีหุ้น DELTA,  บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC),  บมจ.  แอสเสท เวิรด์ คอร์ป  (AWC) และ บมจ. วีจีไอ (VGI)   กลุ่ม SET100 มีหุ้น  บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP),  บมจ. แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ (ACE) และ บมจ. ซีเค พาวเวอร์  (CKP)

กรณีของหุ้น DELTA ที่มีประเด็นฟรีโฟลทต่ำ แต่ราคาหุ้นที่เคลื่อนไหวสามารถมีผลต่อดัชนีได้จนถึงปัจจุบันมีผลมากถึง 70-80 จุด นั้นหมายความว่าถ้าหักหุ้น DELTA ออกมาดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะสมอยู่ที่ระดับ 1,400 กว่าจุด ดังนั้นการเข้าเกณฑ์ Cash Balance แค่ระดับ 1 อาจจะไม่มีผลให้ราคาหุ้นสะท้อนพื้นฐานมากเท่าระดับ 3

    “ จากการวิเคราะห์ตามการซื้อขายทำให้คาดว่ามาตรการมีหลายรูปแบบ จะสุดโต่งแบบเข้มข้นไปเลยก็ได้ แต่ต้องมีหลักการทั้งผลดีและผลเสีย ซึ่งก็เช่าว่าตลาดหลักทรัพย์คำนึงอยู่แล้ว”

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แจ้งถึงแนวคิดในการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำ เพราะ หุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำการเคลื่อนไหวของราคาจะหวือหวาเกินปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วย เพราะ หุ้นดังกล่าวอาจทำให้นักลงทุนได้รับความเสียหายได้

ทั้งนี้คาดว่าแนวทางดำเนินการให้หุ้นมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นนั้นมีหลายวิธีที่ทำได้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะมีการปรับเกณฑ์การปรับขึ้น (ซิลลิ่ง) และการปรับลง(ฟลอร์)ของราคาหุ้นที่มีฟรีโฟลท ต่ำ เพราะ มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่เชื่อว่าตลท.ต้องใช้เวลาพอสมควร คงไม่ได้ประกาศได้เร็ว เพราะต้องมีเวลาในการรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง)กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีเวลาให้นักลงทุนในการปรับตัว