‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ ที่30.12บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ ที่30.12บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่ากว่าภูมิภาคท่ามกลางความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 แนะนำจับตาทิศทางของตลาดหุ้นเป็นหลัก คาดเงินทุนเริ่มเคลื่อนกลับมาในฝั่งเอเชียหากตลาดสหรัฐเริ่มพักฐาน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.07 บาทต่อดอลลาร์ มองประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.00-30.20 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.90-30.30 บาทต่อดอลลาร์

ด้านเงินบาท ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่ากว่าสกุลเงินเอเชียเนื่องจากมีความกังวลเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจและการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศ ขณะเดียวกันก็มีแรงขายบอนด์กดดันเพิ่มเติม แม้ช่วงหลังจะมีแรงซื้อหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติบ้างแต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินบาทแข็งค่า เรามองว่าเกิดจากมุมมองของตลาดที่เชื่อว่าการลงทุนในฝั่งเอเชียไม่มีเรื่องที่น่าสนใจเท่าฝั่งสหรัฐ สัปดาห์นี้จึงแนะนำจับตาทิศทางของตลาดหุ้นเป็นหลัก คาดว่าจะเงินทุนเริ่มเคลื่อนกลับมาในฝั่งเอเชียก็ต่อเมื่อหุ้นสหรัฐพักฐานหรือตลาดกลับมาสนใจเรื่องการอ่อนค่าของดอลลาร์อีกครั้ง

ในสัปดาห์นี้เชื่อว่าตลาดจะจับตาไปที่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐ แนวโน้มการผลิต และการแจกจ่ายยาต้านไวรัสเป็นหลัก โดยในฝั่งการเมือง รัฐสภาสหรัฐมีโอกาสที่จะยื่นถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เร็วที่สุดในวันอังคาร อย่างไรก็ดี ต้องรอการประชุมของวุฒิสภาซึ่งตามกำหนดจะมีขึ้นหลังจากที่นายโจ ไบเดนเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลาดเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะตั้งงบเพิ่มเติมอีก 7.5 แสนล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่ารัฐบาลใหม่ของสหรัฐอาจมีการขึ้นภาษี เพื่อเป็นการปรับสมดุลย์เศรษฐกิจไปพร้อมกันหลังจากมีเสียงเพียงพอในทั้งสองสภา

ด้านตลาดเงิน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 0.4% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในช่วงสัปดาห์ก่อน เนื่องจากนักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังตัวหลังการเมืองสหรัฐกลับมาร้อนแรง ขณะที่การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีมาที่ระดับ 1.12% พร้อมกับตลาดหุ้นที่ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ก็เป็นสองปัจจัยบวกกับพื้นฐานของเงินดอลลาร์มากขึ้นด้วย ในสัปดาห์นี้จึงต้องจับตาทิศทางของตลาดทุนต่อ คาดว่าฝั่งสหรัฐยังมีความน่าสนใจกว่าทั่วโลกอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นเงินดอลลาร์ไม่อ่อนค่าลงเร็วในระยะสั้น กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 89.6-90.6 จุด ระดับปัจจุบัน90.07จุด

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.85-30.20 บาทต่อดอลลาร์สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ตลาดการเงินอาจมีความระมัดระวังตัวมากขึ้นและชะลอการเพิ่มความเสี่ยง จากปัจจัยเสี่ยง อาทิ ความวุ่นวายของการเมืองสหรัฐฯ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ทำให้หลายประเทศต้องใช้มาตรการ Lockdown ซึ่งอาจสะท้อนบนข้อมูลเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงมากขึ้น

ทั้งนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดึขึ้น จากความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้ ซึ่งภาพดังกล่าวจะถูกสะท้อนโดย ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนธันวาคม ที่จะปรับตัวขึ้นราว 0.2%จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่หดตัว 1.1% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) เดือนมกราคมจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 81จุด ดีขึ้นจาก 80.7จุด ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ผลกระทบของการระบาด COVID-19 อาจส่งผลให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในบางพื้นที่ซึ่งมีมาตรการ Lockdown ชะลอลง โดยดัชนีภาคการผลิตรัฐนิวยอร์ก (Empire Manufacturing Index) ในเดือนมกราคม จะลดลงเหลือ 2.0จุด จาก 4.9จุด ในเดือนก่อนหน้า

ถัดมาในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะทำให้ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ BOE ถึงโอกาสการใช้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบในวันจันทร์ ส่วนวันพุธ ตลาดจะรอดูแถลงการณ์ของประธาน ECB ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินในยุคหลัง COVID-19 และ Brexit

ฟากเอเชีย การค้าของจีนจะฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้ยอดส่งออกเดือนธันวาคมโตได้ 15%จากระยะเดียวกันปีก่อน ด้านยอดนำเข้าก็โต 5% ส่วนในฝั่งเกาหลีใต้ แม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ก็มีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% จนถึงปี 2023 จากความกังวลผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังที่สามารถทยอยผลักดันออกมาได้ ก็สามารถช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อยู่


นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดและบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด (จันทร์: Bostic & Kaplan, อังคาร: Rosengren, พุธ: Harker และ พฤหัสฯ: Powell) ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงิน โดยเฉพาะ มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง ที่อาจส่งผลให้ตลาดผันผวนได้ หากเฟดส่งสัญญาณว่าอาจถอนมาตรการดังกล่าวได้เร็วกว่าที่ตลาดมองไว้

จากปัจจัยดังกล่าว เราคาดว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออาจแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น จนกว่าปัจจัยเสี่ยง อย่างทิศทางนโยบายการเงินเฟด อย่างการอัดฉีดสภาพคล่องจะเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ว่าเฟดจะไม่รีบลดการเพิ่มสภาพคล่อง หรือ ความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯเริ่มสงบลง ทำให้การเปลี่ยนโอนอำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯราบรื่น อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์อาจไม่ได้ทำให้สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ เช่น เงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก หากยังมีแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ ขณะเดียวกัน ผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์