พาณิชย์คุมเข้มทุเรียน ป้องสวมสิทธิส่งออก

พาณิชย์คุมเข้มทุเรียน  ป้องสวมสิทธิส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าป้องกันการสวมสิทธิและลงโทษผู้ส่งออกที่นำเข้าสินค้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมาแอบอ้างเป็นทุเรียนไทยแล้วส่งออกไปประเทศจีน

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์และผู้ส่งออกจังหวัดจันทบุรี ว่าปัจจุบันอาจมีการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเป็นทุเรียนไทยและส่งออกไปยังประเทศจีน โดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าFormE เพื่อขอรับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นเข้าข่ายการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า โดยใช้ไทยเป็นฐานการปลอมแปลงถิ่นกำเนิด ส่งผลต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของทุเรียนไทย

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิทุเรียนไทยและป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิด กรมจึงได้ดำเนินการเพิ่มสินค้าทุเรียนในบัญชีรายการสินค้าเฝ้าระวัง (Watch-List) ซึ่งจะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาออกหนังสือรับรองฯเข้มงวดและรัดกุมยิ่งขึ้น

สำหรับสินค้าทุเรียนที่ถูกสวมสิทธินั้นประกอบด้วย ทุเรียนสด(FRESH DURAIN) พิกัดศุลกากร 0810.60 และทุเรียนแช่แข็ง (FROZENDURAIN) พิกัดศุลกากร0811.90 ซึ่งกรมได้กำหนดแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทุกประเภท

161027598779

โดยให้ผู้ยื่นขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต้องระบุข้อความยืนยันแหล่งที่มาของทุเรียนในประเทศที่ขอรับหนังสือรับรองฯเพิ่มเติมลงในแบบขอรับการตรวจคุณสมบัติของสินค้าทางด้านถิ่นกำเนิด เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากร ซึ่งได้กำหนดใช้มาตรการดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2563และกำหนดให้ใช้อย่างต่อเนื่องจากนี้ต่อไปอีก

การดำเนินการตามแนวปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองฯ ดังกล่าวเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการป้องกันการสวมสิทธิและการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าทุเรียน เพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่า ทุเรียนที่ส่งออกจากไทยเป็นทุเรียนที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง อีกทั้งยังช่วยรักษาความเชื่อมั่นในมาตรฐาน ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของทุเรียนไทยในตลาดโลกอีกด้วย

“ทุเรียนจากแหล่งอื่นแล้วมาแอบอ้างสิทธิว่าเป็นของไทยนอกจากจะผิดกฎทางการค้าแล้วยังส่งผลเสียในเชิงภาพลักษณ์สินค้าไทยเพราะหากไม่มีคุณภาพก็เท่ากับว่าเป็นความเสียหายของประเทศไทยนั่นเอง”

161027601417

จากสถิติการส่งออกทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งของไทยปี2563 (ม.ค.-ต.ค.) ปริมาณรวม 631,394 ตัน ลดลง 4.2% มูลค่า 69,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2562 ที่ส่งออกปริมาณรวม 680,904 ตัน มูลค่า 51,029 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังประเทศ 3อันดับแรก ได้แก่ จีน ฮ่องกง และเวียดนาม ตามลำดับ

161027604221