"กรุงเทพธุรกิจ CEO Survey"แนะรัฐใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

"กรุงเทพธุรกิจ CEO Survey"แนะรัฐใช้ยาแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

'ซีอีโอ’ ร้องรัฐเร่งอัดมาตรการเยียวยาจากวิกฤติโควิดรอบใหม่ ลงลึกทุกระดับ ‘อสังหาฯ’ มั่นใจ1เดือนคุมได้ วัคซีน พลิกเกม

การสำรวจ ‘มุมมอง 200 ซีอีโอ'  ต่อการแพร่ระบาดเชื้อโควิดรอบใหม่ จัดทำโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งนอกจากผลสำรวจแล้วยังมีข้อเสนอแนะมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากนี้ มีหลายมาตรการที่รัฐควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อ อาจส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 

ซีอีโอ แนะรัฐว่า รัฐควรต้องใช้ยาแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่นี้อย่างเร่งด่วน ต้องมีมาตรการ กระตุ้นธุรกิจในทุกระดับ โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็ก และรายกลาง รวมถึงต้องหาวิธีในการพลิกฟื้น เพื่อรีสตาร์ทประเทศไทยอีกกครั้งควบคู่ไปด้วย

เร่งเยียวยา รีสตาร์ทปท.-ลดภาษี

"รัฐต้องกระจายเม็ดเงินในการเยียวยา และรีสตาร์ทแบบ 50 : 50 หาวิธีดึงภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ (นอกจากองค์กรขนาดใหญ่) เข้ามาร่วมพัฒนาแผนฟื้นฟู กระจายเงินลงทุนให้เกิดการสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ในภาคเอกชน ที่มีขนาดธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม เพื่อลดผลกระทบ" 

หนึ่งในมาตรการที่ ซีอีโอ ต้องการเห็น คือ มาตรการด้านภาษีต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนแหล่งเงินให้ผู้ประกอบการเข้าถึงได้ง่ายในช่วงภาวะวิกฤติ รวมถึง วิธีกระตุ้นเงินลงทุนจากต่างชาติ และเร่งอัดฉีดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งรัฐเอกชนควบคู่กัน

"มาตรการภาษีต้องถูกนำมาใช้มากขึ้น เช่น ลดภาษี สนับสนุนแหล่งเงินให้ผู้ประกอบการ จัดหามาตรการกระตุ้นแบบแรงๆ ช่วยผู้ประกอบการทุกขนาด ไม่ใช่เลือกให้เฉพาะรายใหญ่ แต่รายเล็กรายกลางไม่ได้รับการช่วยเหลือ แก้ปัญหาดอกเบี้ยของเอสเอ็มอีให้ครอบคลุม ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และผ่อนปรนภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม" 

ขณะที่ ซีอีโอ บางส่วนเห็นว่า รัฐอาจอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบผ่านโครงการของรัฐ และการช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือเที่ยวด้วยกัน รวมถึงอาจต้องต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไปอีก รวมถึงลดภาระรายจ่ายของประชาชน ผ่านการลด  ภาษีทรัพย์สิน ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ ออกมาตราการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม

"ให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ย extend ระยะเวลาการคืนเงินกู้ ยกเว้นภาษี เร่ง Government Spending ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องเร่ง เยียวยา พักหนี้ ให้ soft loan ใหม่ รวมถึงแก้ไขค่าเงินบาท และเลือกใช้จ่ายงบประมาณให้รอบคอบ หรืออาจจำเป็นต้องลดหย่อนภาษีทุกรูปแบบเพื่อให้องค์กรธุรกิจมีสภาพคล่องเพียงพอ"

ซีอีโอแนะว่า รัฐควรใช้เงินในการเยียวยาและการฟื้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด ดันให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่าย 

กระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกัน รัฐต้องวางแผนดันมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาวด้วย ระยะสั้นเน้นช่วยในประเทศ เริ่มตั้งแต่ระดับรากหญ้า คนตัวเล็ก ส่วนระยะยาว เร่งมาตรการระดับใหญ่ เช่น เร่งเจรจาการส่งออกสินค้า เกษตร อุตสาหกรรม รวมถึงเร่งเปิดการท่องเที่ยว 

หนุนให้เกิดนวัตกรรมใหม่

นอกจากนี้ รัฐต้องเร่งส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงการหามาตรการดำเนินการกับธุรกิจออนไลน์ของต่างชาติ รวมถึงแพลตฟอร์ม เช่น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ แอพพลิเคชั่นจองโรงแรมที่พัก เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผลักดันนโยบายที่เอื้อประโยชน์ ให้ผู้ประกอบการไทยในธุรกิจโรงแรม อีคอมเมิรซ์ สตาร์ทอัพไทย เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนในอนาคตด้วย

"รัฐต้องหันมาส่งเสริมสาธารณสุขเชิงป้องกัน ปฏิรูปการศึกษา ปรับโครงสร้างรายได้ของประเทศ เน้นอินโนเวชั่น และการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งผลักดัน ดิจิทัล อีโคโนมี"

นอกจากนี้ ซีอีโอ บางรายยังมีข้อเสนอให้รัฐบาล จัดที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยขายสินค้า อาจใช้ที่ดินของรัฐ และยกเว้นเก็บค่าเช่า 2-3 ปี ขณะที่ กำหนดมาตรการภาษีให้เป็นธรรมสำหรับรายย่อยมากขึ้น

“เร่งฟื้นฟูให้เกิดกำลังซื้อในประเทศ และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่พึ่งพากับ domestic demand ให้มาก เน้นการเติบโตในภาคเศรษฐกิจ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อนอกประเทศ หรือเร่งสนับสนุนภาคธุรกิจหลักของประเทศให้มากที่สุด เพื่อพยุงธุรกิจอื่นๆ ต่อไปได้"

เร่งหาวัคซีนฟื้นเชื่อมั่น

ซีอีโอ ส่วนใหญ่ยังมองเรื่องการ จัดหาวัคซีนของภาครัฐด้วยว่า ควรเร่งดำเนินการ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ ขณะที่ ต้องมีมาตรการบริหารจัดการที่ดี รอบคอบ รัดกุม มีความปลอดภัย 

"ระยะสั้น ควรเร่งหาวัคซีน คุมการติดเชื้อในประเทศให้เพิ่มน้อยที่สุด ในด้านเศรษฐกิจ ควรเร่งจัดหา container ช่วยผู้ส่งออก ระยะยาว ทำตามแผนพัฒนา 20 ปีที่วางไว้อย่างต่อเนื่องให้สำเร็จ" 

อย่างไรก็ตาม ซีอีโอรายหนึ่ง ระบุว่า ในระยะยาวแล้ว ภาครัฐควรมองระบบเศรษฐกิจ เสมือนระบบนิเวศ ที่ทุกขนาดของโครงสร้างธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบต่อกัน ทั้งในด้านกฎระเบียบ กฎหมาย รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน เครื่องมือ และบริการต่างๆ ความรู้ด้านกฎหมาย บัญชี ไปจนถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นในการทำธุรกิจ 

โดยให้ภาครัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องการจัดให้ธุรกิจมีทั้ง ความรู้ และการหาความรู้อย่างต่อเนื่อง หน่วยงานของรัฐต้องทำงานสอดประสานกันทุกเรื่อง ที่ผู้ประกอบการและประชาชนต้องการรับทราบ หรือขอรับการช่วยเหลือและสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การออกกฎหมายควบคุมกลุ่มที่เป็นต้นตอของการแพร่เชื้อรอบใหม่อย่างจริงจัง ใครผิ

ด้านความเห็นจากซีอีโอกลุ่มอสังหาฯ มั่นใจ 1 เดือนคุมได้ เหตุหลายภาคส่วนมีประสบการณ์รับมือ วัคซีนเป็นตัวพลิกเกม “ซูซูกิ” ชี้รัฐไม่ใช้มาตรการเข้มเท่ารอบแรก ช่วยให้ธุรกิจ เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ วอนรัฐคุมกำเนิดคลัสเตอร์ใหม่ในอนาคต

นายณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบใหม่น่าจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้น เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้เร็วกว่ารอบแรก คาดไม่เกิน 1 เดือน เพราะทุกภาคส่วนต่างมีประสบการณ์และเรียนรู้วิธีในการป้องกันตัวเองมาแล้วเป็นอย่างดี เพียงแต่ตอนนี้ทุกคนอาจจะตื่นตกใจ ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันยกระดับมาตรการการดูแลป้องกันที่เข้มข้นมากขึ้นอีกครั้ง

ในปี 2564 บริษัทยังคงยึดกลยุทธ์รุกการลงทุนในต่างจังหวัด ตอบโจทย์ความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัย หรือเรียลดีมานด์ โดยเฉพาะ 2 พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ขอนแก่น และ พัทยา จ.ชลบุรี  ยังมีโอกาสทางธุรกิจและการเติบโตแม้จะไม่หวือหวาแต่มียอดขายอย่างต่อเนื่อง เพราะมีดีมานด์อยู่อาศัยจริงรองรับชัดเจน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องราคาที่ดินที่สูงเช่นในกรุงเทพฯ

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้จะมีการระบาดรอบใหม่ แต่ครั้งนี้มีตัวพลิกเกม (Game Changer) ที่ชัดเจน  คือ การทยอยฉีดวัคซีนทั่วโลกและโอกาสกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนของไทยมีความตื่นตัวต่อสถานการณ์และการป้องกัน จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภาพรวมตลาดปี 2564 ขับเคลื่อนไปได้มากกว่าปี 2563

นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาฯ ยังมีโอกาสจากปัจจัยบวก เช่น การที่ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้ง นโยบายไทยแลนด์ อีลิท การ์ด จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันตลาดฮ่องกง สิงคโปร์ และอีกหลากหลายชาติ ที่สนใจซื้ออสังหาฯ ไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งสนใจตลาดอสังหาฯ ไทยมากขึ้น 

“การระบาดรอบใหม่อาจมีส่วนกดดันตลาดในระยะสั้นช่วงต้นจนถึงกลางไตรมาสแรก แม้ระยะยาวอาจต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งปีของธุรกิจอสังหาฯ ที่จะเติบโตมากกว่าปี 2563”

นายหัสกร บุญยัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด มองว่า ประสบการณ์การล็อกดาวน์ในปีที่ผ่านมาจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แต่ละองค์กรในการบริหารจัดการ ประคับประคองสถานะการเงินและบุคลากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2564 น่าจะมีความคล้ายคลึงปี 2563 โดยมีการชะลอตัวในครึ่งปีแรก และฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ทั้งด้านการก่อสร้าง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น ในส่วนของการก่อสร้าง ได้เพิ่มจำนวนบ้านสร้างเสร็จพร้อมขายพร้อมโอนให้เพียงพอกับประมาณการยอดขายในช่วงเปิดโครงการ เพื่อโอนได้เร็ว เพิ่มกระแสเงินสดได้เร็วขึ้น และยังรองรับพฤติกรรมการซื้อของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการซื้อโดยไม่ต้องผ่อนดาวน์

“ปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ โดยตั้งทีมทำงานร่วมกับธนาคารต่างๆ อย่างใกล้ชิด และคอยแก้ปัญหาและให้คำปรึกษากับลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน เพื่อยังคงรักษาลูกค้าไว้กับบริษัทในระยะยาว”

ซูซูกิรับได้ใช้เวลาแต่ธุรกิจขับเคลื่อนได้

นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหาร ด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้เกิดความกังวล เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและยังไม่ลดลง

แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ขณะนี้ต่างจากครั้งแรก ทำให้ไม่รู้สึกตระหนกมากนัก เนื่องจากเห็นว่าทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแนวทางคำแนะนำเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“การแพร่ระบาดรอบแรก ทำให้เกิดความตื่นตระหนกไปทั่ว ส่งผบกระทบในวงกว้าง เพราะมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น แต่ครั้งนี้ แม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ก็มีการควบคุมในบางพื้นที่ที่จำเป็น เช่นสถานบันเทิง แต่ร้านอาหารยังเปิดบริการได้ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย และธุรกิจขับเคลื่อนได้”

ทั้งนี้ความแตกต่างของแนวทางแก้ไข 2 ครั้ง ต่างกัน โดยระลอกแรกเหมือนการใช้ยาแรง ซึ่งควบคุมโรคได้เร็ว ระลอก 2 ผ่อนคลายมากกว่า เพื่อให้ธุรกิจขับเคลื่อน แต่ก็เข้าใจดีว่าต้องใช้เวลา และแนวทางภาครัฐ คือ ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นจากเบาไปหนัก

ส่วนในอนาคต เชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีวัคซีนเข้ามา แม้จะไม่สามารถกำจัดโรคให้หมดไป แต่ทำให้ผู้คนสามารถอยู่กับโรคได้อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

ส่วนสิ่งที่อยากเสนอต่อภาครัฐ คือ ต้องการให้เข้มงวดในการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกเหมือนกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้

“ที่เกิดขึ้นแล้วก็ค่อยๆ แก้ไขไป ซึ่งเชื่อว่าจะทำได้ แต่สิ่งที่อยากเสนอนั้น มีอยู่เรื่องเดียว คือ ต้องการให้รัฐคุมเพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นอีก เหมือนกับการระบาดรอบนี้ พูดง่ายๆ คือภาครัฐต้องไม่การ์ดตกเช่นเดียวกัน”

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศในระยะสั้นมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากยอดขายโครงการจะลดลง เพราะ การแพร่ระบาดของโควิดนั้นกระทบรายได้ของลูกค้าที่จะซื้อที่อยู่อาศัยทำให้ความสามารถลูกค้าในการกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยอาจทำได้ยากขึ้น แม้เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวมาบ้างในช่วงปลายปี 2563แต่เชื่อว่าเมื่อโควิด-19เริ่มคลี่คลาย ยอดซื้อ ยอดจองบ้านจะกลับมาขยายตัวได้สู่ระดับปกติ

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจของ SPALI คงไม่มีการปรับเปลี่ยน เพราะโครงการส่วนใหญ่มีการแพลนช่วงหน้า 3-4ปี โดยเฉพาะโครงการลงทุนใหม่ๆ ดังนั้นคงไม่มีการปรับแผนธุรกิจ แต่อาจจะต้องดูจังหวะในการเปิดตัวโครงการต่างๆที่เหมาะสมมากขึ้น หากเป็นโครงการใหม่ที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้

สำหรับโควิด-19รอบใหม่ ต้องติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของการแพร่ระบาด ว่ารุนแรงขนาดไหน เพราะหากควบคุมได้ การล็อกดาวน์ก็อาจทำเป็นจุดๆได้ แต่หากโควิด-19มีการกระจายจากออฟฟิสไปสู่ออฟฟิสสู่ประชาชนในวงกว้างการล็อกดาวน์ทั่วประเทศก็เหมาะสมกว่า แต่วันนี้เชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่ไปสู่จุดนั้น สถานการณ์ยังสามารถคุมได้เป็นจุดๆ แต่จุดสำคัญคือ ความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทุกคนต้องช่วยกันต้องไม่ไปจุดเสี่ยงซึ่งจะช่วยหยุดการแพร่ระบาดได้

สุดท้ายส่วนข้อเสนอเพื่อแก้ไขโควิด-19 เชื่อว่าสิ่งที่สำคัญสุดที่รัฐบาลต้องเร่งทำในขณะนี้ คือการควบคุมโควิด-19 ให้หายไปเร็วที่สุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว จะช่วยประคองธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางให้ไม่ล้มตายได้ เพราะหากโควิด-19คลี่คลายได้โดยเร็ว รัฐบาลก็จะสามารถทำมาตรการช่วยเหลือ หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้ตรงจุดได้มากขึ้น ดังนั้นมาตรการกระตุ้นที่ดีที่สุดคือ ต้องคุมโควิด-19ให้อยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ส่วนวัคซีนที่รัฐบาลสั่งมาครอบคลุมประชากร 50% เบื้องต้น เชื่อว่าเพียงพอ หากมีการวางแผนที่ดี มีการเริ่มฉีดในพื้นที่เสี่ยง จุดเสี่ยง กลุ่มเสี่ยงได้ ก็อาจช่วยลดการแพร่ระบาดจากโควิด-19 ที่มีต่อประชาชนได้ เพราะท้ายที่สุดวัคซีนก็เพิ่มเป็น 100%ในอนาคต

ดับบลิวเอชเอ มองโควิด ระบาดรอบ 2 ไม่น่าห่วง เป็นไปตามที่คาด แต่วัคซีนมาเร็วกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้คาดว่าภาวะการลงทุนในปีนี้จะดีกว่าปีก่อน

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ในไทย แต่ ดับบลิวเอชเอ กลับมองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ดีกว่าที่คาดไว้ เพราะที่ผ่านมาก็ได้ประเมินว่าการระบาดรอบ 2 จะต้องมาแน่นอนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และวัคซีนจะเริ่มนำมาใช้ได้เร็วที่สุดในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งก็เป็นตามที่คาดไว้ แต่วัคซีนจะเริ่มนำเข้ามาฉีดให้กับคนไทยในช่วงเดือนก.พ.นี้ และทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ซึ่งดีกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก ทำให้มองว่าสถานการณ์ของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น

ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ตัว ดับบลิวเอชเอ ได้ดูแลการเข้าออกนิคมฯอย่างเข้มงวด การตรวจอุณหภูมิ การรักษามาตรฐานสุขอนามัยสูงสุด รวมทั้งยังได้จัดแบงพนักงานดับบลิวเอชเอ ออกเป็น 2 ทีม ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะไม่ได้เจอกันเลย หากทีมใดติดโควิด-19 อีกทีมก็สามารถเข้ามาดำเนินงานทดแทนได้ทันที และยังได้ขยายความร่วมมือในมาตรการเข้มงวดในการป้องกันกับผู้ประกอบการในนิคมฯอย่างใกล้ชิด

โดย รัฐบาลจะต้องจัดการการแพร่ระยาดให้ควบคุมได้เร็วที่สุด รัฐบาลควรใช้มาตรการเด็ดขอดล็อกดาวน์พื้นที่เป็นส่วน ๆ ซึ่งภาครัฐก็ได้เข้มงวดขึ้นแล้ว และภาครัฐก็ได้เร่งทยอยซื้อวัคซีนมาฉีดให้เร็วที่สุด แต่จะต้องเข้าไปจัดการตัวการการแพร่ระบาดในรอบนี้ให้เด็ดขาด เพราะทำให้ส่วนรวมเดือดร้อนจากผู้ที่ทำผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้รัฐบาลอย่างมองแต่เพียงด้านรับมือเพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เพราะมัวแต่ตั้งรับให้โรคหายไปแล้วค่อยมาฟื้นเศรษฐกิจจะช้านเกินไป

จะต้องแยกเป็น 2 เรื่อง คือ 1. การเยียวยา ที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 2. การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมามองให้ชัดเจน ทีมเศรษฐกิจจะต้องกระตุ้งตั้งแต่การลงทุน ดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งในเรื่องการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งในกรอบการค้าเสรีที่ไทยไม่มีและเสียเปรียบคู่แข่ง เช่น เขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป และความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ที่เวียดนามได้ลงนามข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้ไปแล้ว ทำให้ไทยเสียเปรียบในการดึงดูดการลงทุน