‘วันเด็กแห่งชาติ’ ศตวรรษที่ 21 จะเลี้ยงลูกให้เป็น 'เทพ' หรือเป็น 'ที่พึ่ง' ?

‘วันเด็กแห่งชาติ’ ศตวรรษที่ 21  จะเลี้ยงลูกให้เป็น 'เทพ' หรือเป็น 'ที่พึ่ง' ?

ใน "วันเด็กแห่งชาติ 2564" นอกจากถามเด็กว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร แล้วผู้ใหญ่ได้ปูทางหรือเข้าใจเด็กแค่ไหน ลองอ่านแนวคิดของคนทำงานเกี่ยวกับเด็กที่ได้รวบรวมมานำเสนอ...

วันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 นี้ นอกจากคำขวัญวันเด็กในปี2564  “เด็กไทยวิถีใหม่รวมไทยสร้างชาติด้วยภักดีมีคุณธรรม” หรือคำขวัญปีใดก็ตาม ที่ไม่รู้เด็กไทยจะใส่ใจบ้างหรือเปล่า

แต่พวกผู้ใหญ่ก็ชอบพูดว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” เด็กต้องได้รับการคุ้มครอง ป้องกัน และให้ความรัก แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำหลายอย่างสวนทางกับสิ่งที่พูด

ถ้าอย่างนั้่น เนื่องในวันเด็ก ลองอ่านแนวคิดของคนที่ทำงานกับครูและเด็กๆ ในหลายๆ มุมที่จุดประกายเคยสัมภาษณ์

 

  • เด็กก้าวพลาด ต้องให้โอกาส

ครูเล็ก-ภัทราวดี มีชูธน เจ้าของโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

 “เด็กๆ ในโรงเรียนภัทราวดีก็มีปัญหาไม่ต่างจากเด็กทั่วไป แรกๆ ครูเล็กเลือกที่จะไล่ออก แล้วทำไมเปลี่ยนมาใช้วิิธีอื่น ตอนทำโรงเรียนก็มีเด็กที่มีปัญหา ตีกัน ทะเลาะกัน เสพยา พูดไม่ฟังไม่รู้จะทำยังไง และมีกฎว่า เตือนสามหนไม่ฟังต้องไล่ออก บางปีไล่เด็กออกเป็นสิบๆ คน

วันหนึ่งคิดได้ว่า เราเป็นครูไม่มีหน้าที่ไล่เด็กออก เด็กจะร้ายแค่ไหน หน้าที่ของครูคือ ต้องสอนให้เขาเป็นคนดี ดิฉันก็ไปเรียน Art Therapy ที่จุฬาฯ นำมาใช้แก้ปัญหา และพบว่าก่อนจะเปลี่ยนคนอื่น ต้องปรับตัวเองก่อน 

ตอนนั้นก็ลงพื้นที่อยากไปเจอเคสแรงๆ และนั่นทำให้เข้าใจว่า เด็กเหล่านั้นไม่ได้ชั่วร้าย ไม่ได้มีเจตนาที่จะเป็นแบบนั้น บางคนมีปัญหาทางสมอง เป็นเด็กพิเศษบ้าง สิ่งแวดล้อมในครอบครัวทำให้เขาเป็นแบบนั้นบ้าง เราเป็นครูต้องมีเมตตาสูง”

............................

  • ลูกไม่ต้องเรียนเพื่อพ่อ

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการ และวิทยากรที่สนใจเรื่องการศึกษา เจ้าของแนวคิด ห้องเรียนแห่งอนาคต

"ผมมีลูกคนเดียว ลูกสาว ผมไม่เคยให้ลูกกวดวิชา ไม่เคยบอกลูกว่าให้ตั้งใจเรียน ไม่เคยเอาเกรดลูกมาดู แล้วเทียบกับคนอื่น สิ่งที่ผมแคร์ที่สุดในวัยเด็กของเขาคือ เขาต้องรับผิดชอบ การเรียนหนังสือไม่ใช่ความรับผิดชอบของเขา ความรับผิดชอบของเขาคือ ถ้าเขาสัญญาต้องรักษาคำพูด ผมฝึกให้เขาตัดสินใจและรับผิดชอบ รับผลของมันด้วย

ผมไม่เคยปลุกลูกไปโรงเรียน ถ้าเขาไปสาย เขาต้องรับผิดชอบเอง ผมไม่แก้การบ้านที่ผิดๆ ให้ลูก เพราะถ้าเขาทำผิด ครูจะได้รู้ว่าเขาทำผิด ลูกก็ได้เรียนรู้

แม้ลูกจะโดดเรียน ผมก็ไม่เคยว่า นั่นคือการตัดสินใจของเขา และเขาต้องรับผลนั้น ถ้าเกรดการเรียนต่ำก็เป็นผลที่เขาทำ ลูกไม่ต้องมาเรียนเพื่อพ่อ นี่คือวิธีการเลี้ยงลูกของผม

แต่ผมสอนให้เขามีความเป็นมนุษย์ ต้องไหว้พี่เลี้ยง ให้เคารพคน แม้จะเห็นต่าง เมื่อเขาได้ตัดสินใจเยอะ เรียนรู้เยอะ ก็เติบโต ประสบการณ์จะสร้างให้เกิดการเรียนรู้ปิดเทอมผมพาลูกเที่ยวประเทศนั้นประเทศนี้ ไปชนบทได้เห็นเด็กในโรงเรียนยากจน พอโตขึ้นหน่อยให้ทำประโยชน์เพื่อสาธารณะ ให้เขารุู้ว่า การทำประโยชน์ให้สังคม ทำให้เขามีความสุขได้เหมือนกัน พออายุ 15-16 ก็ทำงานได้แล้ว เขาทำในเรื่องครีเอทีฟอาร์ต คลิปวิดีโอ ทำแอพฯทำการ์ตูน ทำมาหากินตั้งแต่เรียนมัธยม

ตอนนี้อายุ 22 ยังเรียนอยู่ และทำงานไปด้วย แต่ตระเวนไปหลายๆ ประเทศ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้คิดแบบเราว่าจะทำงานอะไร ทำงานบริษัทไหน เขาเรียกตัวเขาเองว่า ดิจิตอล โนแมด(บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่หาเลี้ยงชีพด้วยธุรกิจออนไลน์) อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ บางปีอยู่ที่อังกฤษ บางปีอยู่เนเธอร์แลนด์ "

......................

  • เด็กไทยต้องหัดเรียนรู้เอง

พฤหัส พหลกุลบุตร  มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยเถื่อน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 

" ทำไมเด็กไทยสู้เด็กสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะเด็กสิงคโปร์ฝึกมาให้เรียนรู้เอง เด็กไทยไม่ค่อยเรียนรู้เรื่องการลงมือทำ ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัยทฤษฎีที่เรียนเป็นการวัดประเมินเพื่อสอบ

แต่ในชีวิตจริงถ้าคนเราทำงานไม่ได้ ก็โดนไล่ออกหรือไม่มีกิน ซึ่งต้องใช้ชีวิตแลก ณ วันนี้โลกเปลี่ยนไปมาก ต้องแสวงหา สิ่งที่เราเรียนตอนนี้เป็นวิธีคิดเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ก็คือ จับคนมานั่งเรียนในห้อง แล้วบั๊มออกมาเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่ยุคนี้แล้ว

 เราก็เลยเชื่อว่า เรื่องเล็กๆ แล้วต่อเนื่องเป็นเครือข่ายมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเทรนด์ของโลก เรื่องใดที่ใหญ่โตเข้าถึงยากก็จะล่มสลายไป แล้วอะไรที่เล็กๆ เชื่อมโยงกับเซลล์เล็กๆ

ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มองค์กรในอนาคต ซึ่งเทรนด์ทางเลือกในอเมริกา ยุโรปค่อยๆ กระเตื่อง เหมือนเทรนด์คนดูแลสุขภาพ ที่เห็นว่า กินอาหารสารเคมีเยอะๆ ไม่ไหวแล้ว ต้องหาทางเลือกใหม่"