สรุปภาวะ"สินค้าเกษตร"ประจำสัปดาห์ วันที่ 4 - 8 มกราคม 2564

สรุปภาวะ"สินค้าเกษตร"ประจำสัปดาห์ วันที่ 4 - 8 มกราคม 2564

ราคาสินค้าเกษตรสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ทรงตัว ยกเว้นข้าวโพดลดลง

ข้าวโพด : ราคาลดลง
 
         สัปดาห์นี้ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีน้อย เนื่องจากหลังหยุดยาวในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา คนงานยังมีน้อย ประกอบกับการซื้อขายยังมีไม่มาก ราคาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ จึงปรับลดลงจากช่วงก่อนปีใหม่ จากหาบละ 552 บาท เป็นหาบละ 546 บาท
         ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 6 มกราคม 2564 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 495.00 เซนต์/บุชเชล ราคาขยับสูงขึ้น เนื่องจากตลาดมีความกังวลเรื่องความแห้งแล้งในประเทศอาร์เจนตินา จากปริมาณน้ำฝนที่เบาบางและอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่จะทำให้เกิดความเครียดในพืช (Crop stress) โดย The Rosario Grains Exchange คาดการณ์ผลผลิตข้าวโพดที่ 48 ล้านตัน ต่ำกว่าที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประเมินไว้ในเดือนที่ผ่านมาที่ 49 ล้านตัน  ส่งผลให้รัฐบาลอาร์เจนตินาประกาศจำกัดการส่งออกข้าวโพดเป็นระยะเวลา 2 เดือน เพื่อเก็บผลผลิตไว้สำหรับใช้ในการบริโภคภายในประเทศ สร้างความไม่พอใจให้กับเกษตรกรจนเกิดการประท้วงขึ้น
         แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะทรงตัว
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
         กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้า ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 17.50 บาท โดยปริมาณการซื้อในตลาดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากช่วงหยุดยาวที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาพอากาศในประเทศผู้ผลิตฝั่งอเมริกาใต้ที่ยังคงแห้งแล้ง และมีคาดการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ล่าช้า ขณะที่การส่งออกกากถั่วเหลืองที่อาร์เจนตินามีการปรับภาษีการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวขึ้นด้วย ตลาดจึงมีความกังวลต่อปริมาณผลผลิตที่จะไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ราคายังคงแข็งตัวอย่างต่อเนื่อง
         ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 6 มกราคม 2564 เมล็ดถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 1,361.50 เซนต์/บุชเชล และ กากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนมีนาคม 2564 ราคาอยู่ที่ 438.30 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ช็อตตัน ราคาถั่วเหลืองปรับสูงขึ้น ซึ่งสูงสุดในรอบห้าปี ตั้งแต่ 2558 จากคาดการณ์สภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศอาร์เจนตินา โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานตัวเลขผลผลิตฤดูกาล 2563/64 บราซิลที่ 131.42 ล้านตัน และอาร์เจนตินาที่ 48.44 ล้านตัน ต่ำกว่าเดือนที่ผ่านมาที่ 133.0 ล้านตัน และ 50 ล้านตัน ตามลำดับ นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาถั่วเหลืองสูงขึ้นมาจากสต็อกถั่วเหลืองในประเทศสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีปริมาณจำกัดที่ 175 ล้านบุชเชล และมีแนวโน้มจะปรับลดลงอยู่ที่ 139 ล้านบุชเชล
         แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองนำเข้าน่าจะยืนแข็ง
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
         ในสัปดาห์ที่ผ่านมา การจับปลาของประเทศเปรูอยู่ในภาวะทรงตัวแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยคาดการณ์ว่าจะจับปลาได้เกิน 90% ของโควต้าภายในเดือนมกราคมนี้ ส่งผลให้ราคาตลาดยังคงทรงตัวและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง ด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณการซื้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้นหลังจากหยุดยาว ทำให้สต๊อกหน้าท่าเรือลดลง       โดย ปลาป่นเกรดกุ้ง ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 43.00 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 30.70 บาท และปลาป่นเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 28.20 บาท
         ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 27.70 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาทรงตัวที่กิโลกรัมละ 25.20 บาท
         แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาทรงตัว
        ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาทรงตัวที่ตันละ 545 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. ยืนราคาที่ตันละ 472 ดอลลาร์สหรัฐฯ
        ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศ ข้าวขาว 100% ชั้น 2 ยืนราคาที่กระสอบละ 1,500 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,280 บาท
       แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคายืนแข็ง
       ราคาประกาศสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์ม สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในสัปดาห์นี้ ยืนแข็งที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยน.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการป้องกันโรค ASF ในสุกร และมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ที่เข้มงวด ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกฟาร์มมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นสูงกว่า 300 บาทต่อตัว ประกอบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองนำเข้ามีราคาเพิ่มสูงขึ้น
       อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ขายสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มสูงสุดไม่เกินกิโลกรัมละ 80 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคในสถานการณ์โควิด-19 ส่วนลูกสุกรน้ำหนัก 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาอยู่ที่ 2,600 บาท (บวก/ลบ 76)
       แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
        การบริโภคดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความกังวลกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีการทยอยซื้ออาหารเพิ่มมากขึ้น โดยสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ประกาศ ราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์ม ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 32 บาท
        ด้านลูกไก่เนื้อ ราคาตัวละ 8.50 บาท และลูกไก่ไข่ ราคาตัวละ 28.00 บาท
        แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
        สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ประกาศราคาแนะนำไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ราคาทรงตัวที่ฟองละ 2.50 บาท โดยการบริโภคดีขึ้น เนื่องจากประชาชนทยอยซื้ออาหารสะสมเพิ่มมากขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่
       แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว

-------------------------------------------

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ : 02-766-7343-5
E-mail : [email protected]