บี้รถไฟ - รถเมล์ ยกระดับบริการ

บี้รถไฟ - รถเมล์  ยกระดับบริการ

หากถามถึงบริการสาธารณะที่อยู่คู่กับคนไทยมานานอย่าง ชื่อที่คงได้ยินเห็นจะเป็น “รถไฟ” ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ “รถเมล์” ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพราะเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่คนไทยคุ้นตา และยังมีอายุมามากกว่า 40 ปี

โดยปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนทั้งสองประเภทนี้ นอกจากอยู่ระหว่างฟื้นฟูองค์กรเพื่อหารายได้แล้ว ส่วนหนึ่งได้รับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ เพื่อให้บริการประชาชนอย่างสะดวก ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง (กค.) ได้เสนอรายงานผลการให้บริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 และประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2563 ของ ร.ฟ.ท. และ ขสมก.

พบว่า ร.ฟ.ท. มีผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562 ขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 2,893 ล้านบาท โดยคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (คณะกรรมการฯ) มีมติให้ ร.ฟ.ท.เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะปีงบประมาณ 2562 ในส่วนที่เหลือ (งวดที่ 2 และ 3) จำนวน 1,219 ล้านบาท

อีกทั้ง ได้รับทราบรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2563 ของ ร.ฟ.ท. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะ จำนวน 1,494 ล้านบาท และให้ ร.ฟ.ท. นำผลการดำเนินการประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2563 ไปรวบรวมจ่ายตอนสิ้นปี เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฯ ประจำปีงบประมาณ 2563

161009183932

ขณะที่ ขสมก.มีผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562 ขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะจำนวน 2,255ล้านบาท คณะกรรมการฯ จึงมีมติให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2562 งวดที่ 3 จำนวน 524 ล้านบาท

รวมทั้ง รับทราบการรายงานผลฯ ประจำงวดครึ่งปีงบประมาณ 2563 ของ ขสมก. ซึ่งมีผลการขาดทุนจากการให้บริการสาธารณะจำนวน 996 ล้านบาท และให้ ขสมก. เบิกจ่ายเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 งวดที่ 2 จำนวน 355 ล้านบาท

161009194564

อย่างไรก็ดี นอกจากการอนุมัติเงินอุดหนุนบริการสาธารณะดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการฯ ยังมีความเห็นเพิ่มเติมแก่ ร.ฟ.ท.และ ขสมก. ซึ่งพบว่าข้อคิดเห็นส่วนใหญ่นั้น เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับบริการแก่ประชาชน อาทิ

  • ให้ปรับปรุงการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการให้บริการสาธารณะ รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการจัดทำและการเก็บข้อมูล เอกสารหลักฐานการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
  • ควรกำหนดวิธีการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการให้สามารถเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในด้านต่าง ๆ ในแต่ละปี
  • นำผลการสำรวจมาใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะเพื่อเพิ่มระดับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในอนาคต
  • ควรวิเคราะห์ต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในการเดินรถโดยสารให้ชัดเจน และดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สามารถลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุต่อไป

            แม้บริการสาธารณะที่ดี ที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ จะยังไกลจากความเป็นจริงในปัจจุบันแต่หากทุกฝ่ายช่วยกันดูแล ให้ข้อมูลและความร่วมมือบริการสาธารณะอย่างใกล้ชิด ก็เชื่อว่าบริการสาธารณะที่ดีอย่างที่ฝันคงเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยในเวลาไม่นานจากนี้