'คณิศ' เร่งดึงลงทุนปี 64 ปลุกความเชื่อมั่น 'อีอีซี'

'คณิศ' เร่งดึงลงทุนปี 64  ปลุกความเชื่อมั่น 'อีอีซี'

การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ในปี 2563 มีมูลค่าลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งในปี 2564 ภาครัฐพยายามเร่งผลักดันการลงทุน เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

หลังจากที่ผ่านมาสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความเห็นนักธุรกิจไทยและต่างชาติเพื่อกำหนดแนวทางกระตุ้นการลงทุน

คณิศ แสงสุพรรณ  เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ในปี 2564 จะเป็นปีที่ สกพอ.ให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในอีอีซีถือเป็นการทำงานต่อเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับเครื่องมือที่ สกพอ.จะใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษจากอัตราก้าวหน้าที่สูงสุด 35%  ให้เหลือในอัตราไม่เกิน 17% ของเงินได้พึงประเมินซึ่งเครื่องมือนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เคยอนุมัติไว้แล้วแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการใช้มาตรการนี้เป็นเครื่องมือในการจูงใจ รวมทั้งจะมีการต่ออายุมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่หมดอายุในปลายปี 2564

มาตรการจูงใจดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสนับสนุนการเติบโตของการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีในอีอีซี ซึ่งปี 2563 ได้พัฒนาเทคโนโลยทีที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ในอีอีซีลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี 5G เริ่มเพิ่มการลงทุนต่อเนื่องได้แก่ ธุรกิจ การแพทย์ (Medical Hub) ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับออร์โตเมชั่นและอากาศยาน ซึ่งการลงทุนนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ถึงครึ่งปี 2564 

“การดึงดูดการลงทุนเข้ามาอีอีซีจะต้องใช้หลายเครื่องมือ โดยปีที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับทูตไทยในต่างประเทศในการชักจูงการลงทุนบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมที่เราต้องการมาลงทุนในไทย โดยในปีนี้ต้องทำงานต่อเนื่องและพยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่หนึ่งในนั้น คือ ภาษีบุคคลธรรมดาที่จะใช้เพดานภาษี 17% เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจูงใจให้เกิดการลงทุนและให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงาน”

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีมีความคืบหน้าตาามแผนที่วางไว้ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและอู่ตะเภา ในไตรมาสที่ 1-2 ปีนี้่ จะเริ่มส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในช่วงลาดกระบัง-สนามบินอู่ตะเภา เพื่อเริ่มก่อสร้างทางรถไฟและสถานี โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอีกระยะเพื่อรื้อย้ายสิ่งกีดขวางและจ่ายเงินชดเชยค่าเวนคืนที่ดิน 

ในขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ แม้จะยังส่งมอบที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภคไม่ได้ทั้งหมด แต่ในปีนี้จะเห็นการดำเนินงานของรถไฟแอร์พอร์ตเรียลริงค์ที่มีประสิทธิภาพและการบริการที่รวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการนี้จะเริ่มเข้ามาบริหารงาน และมีการเพิ่มขบวนนรถเข้ามาให้บริการมากขึ้นทำให้ความถี่ในการให้บริการประชาชนทำได้ดีขึ้นโดยสามารถให้บริการผู้โดยสารได้สูงสุด 600,000 คนต่อวัน

161008891861

นอกจากนี้ ในปี 2564 จะเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมให้สถานีรถไฟมักกะสันเป็นสถานีหลักของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งสถานีมักกะสันมีความพร้อมเป็นสถานีหลักของรถไฟความเร็วสูง โดยปัญหาทางเข้าสถานีที่คนเดินทางเข้าสู่สถานีได้ยากกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบสร้างทางเดินเข้าสู่สถานีโดยการขุดทางรอดใต้ดินให้มีทางเข้าออกได้ถึง 6 ทางเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้า-ออกสถานีของประชาชน 

สำหรับรถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายจากสนามบินอู่ตะเภาไป จ.จันทบุรี และ จ.ตราดกำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในการทำรถไฟความเร็วสูงจะต้องเป็นการเชื่อมเมืองขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำนวนมาก 2 เมืองเข้าด้วยกัน

“ความสำคัญที่จะต้องติดตามต่อจากนี้ก็คือในประเด็นที่จะให้รถไฟความเร็วสูงและโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกต้องเสร็จและเปิดบริการได้ในเวลาใกล้เคียงกันหรือพร้อมกันจึงจะเกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจเต็มที่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2568 โดยได้ตั้งคณะทำงานให้ทั้ง 2 โครงการนี้ทำงานร่วมกันต่อเนื่อง ซึ่งต้องมองไปข้างหน้าเพราะโครงการนี่้แล้วเสร็จช่วงโควิด-19 ควบคุมได้แล้ว”

สำหรับการขอจัดสรรงบประมาณของอีอีซีในปี 2565 ยังใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นจุดเด่นในการทำงานของสำนักงานฯอีอีซีที่นอกจากงบประมาณปกติที่ได้รับการจัดสรรปีละ 400-500 ล้านบาท โดย สกพอ.ทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในการบูรณาการงบประมาณร่วมกับหน่วยงานอื่นได้ปีละ 20,0000-25,000 ล้านบาท 

นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ทำไปมากแล้วในช่วงที่ผ่านมาจะเน้นการพัฒนาเมือง การเพิ่มศักยภาพคนในพื้นที่และการลงทุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและสังคมในอีอีซีให้น่าอยู่ ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคงไม่ได้เน้นการก่อสร้างถนนมากนัก แต่จะเน้นการทำระบบรางที่ทำเป็นระบบย่อยๆเพื่อเชื่อโยงกับตัวโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เป็นระบบหลักซึ่งการเชื่อมระบบย่อยเข้ามาสู่ระบบรางหลักในพื้นที่จะทำให้การเดินทางของประชาชนทำได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นด้วย

161008889612