“3 ทางออก” เคลียร์งานกฎหมาย วัดใจ “รัฐบาล” แลกเกมซักฟอก

“3 ทางออก” เคลียร์งานกฎหมาย  วัดใจ “รัฐบาล” แลกเกมซักฟอก

งานของฝ่ายนิติบัญญัติที่มี ร่างกฎหมาย และ ญัตติ คั่งค้างอีกจำนวนมาก ต้องสะดุดเพราะ "พิษโควิด-19" และยังมี การยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล อีก งานนี้จะมีทางออกใดเพื่อเร่งเคลียร์

     สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสอง ที่พบการแพร่ระบาดไปวงกว้างทั่วประเทศ และมีแนวโน้มรุนแรงกว่าการระบาดในรอบแรก ซึ่งมาตรการของรัฐบาลที่ ยังไม่ถึงขั้น “ล็อคดาวน์” แต่เพื่อความปลอดภัย ทำให้กิจกรรมรวมตัว ชุมนุมของคน ต้องถูกสั่งยุติ หรือหลีกเลี่ยง

     ล่าสุด “เวทีฝ่ายนิติบัญญัติ” ได้งดประชุมสภาผู้แทนราษฎร​ ประชุมวุฒิสภา คณะกรรมาธิการบางคณะที่ไม่มีเรื่องจำเป็นเร่งด่วน 14 วัน เพื่อประเมินสถานการณ์ นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เป็นต้นมา

     ซึ่งการงดประชุมนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)และการขับเคลื่อนงานการตรวจสอบรัฐบาลในสภาฯ

     เพราะเป็นการงดประชุม ในช่วงปลายสมัยประชุมสภาฯ ปีที่ 2 (สมัยสามัญประจำที ครั้งที่ 2) ซึ่งครบกำหนดปิดสมัย ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564  ทั้งที่มีงานสำคัญต้องเร่งทำหลายเรื่อง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การพิจารณาร่างกฎหมายประชามติ เพื่อรองรับต่องานแก้กติกาแม่บทของประเทศ รวมถึง การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาล ที่พรรคฝ่ายค้าน เตรียมเดินเครื่อง

     เมื่อสำรวจงานด้านกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้ค้างอยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะพบว่า มีร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีส่งให้พิจารณาและรออยู่ในระเบียบวาระการประชุม ครั้งที่ 12 แล้ว 4 ฉบับ ได้แก่

     1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษี และให้เป็นไปตามอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

     2.ร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งแก้ไขอำนาจของคณะกรรมการวัตถุอันตราย และรายละเอียดที่เกี่ยวกับการควบคุมวัตถุอันตราย

     3.ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับการเข้าร่วมเป็นภาคีสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์

     และ 4.ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยมีสาระเกี่ยวกับการทำบัญญชีรับจ่าย ยุทธภัณฑ์และรายงานให้ปลัดกระทรวงกลาโหมรับทราบ รวมถึงกำหนดการขออนุญาต การขอต่อใบอนุญาต เป็นต้น ซึ่งร่างกฎหมายควบคุมยุทธภัณฑ์นั้นเกิดขึ้นหลังจากเกิดเหตุนายทหารที่จังหวัดนครราชสีมา นำยุทธภัณฑ์สังหารประชาชนในย่านใจกลางเมืองนครราชสีมา เมื่อปี 2563

     นอกจากนั้น ยังมี ร่าง พ.ร.บ. ที่ ส.ส. และภาคประชาชนเสนอและรอในระเบียบวาระ อีก 30 ฉบับ ซึ่งล้วนเป็นฉบับสำคัญ ทั้งเพื่อการปลดล็อค และวางแนวขับเคลื่อนที่ต่อยอดจากนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงไว้กับประชาชน

161003262848

     ขณะเดียวกันการทำงานของ สภาฯ ก่อนจะหยุดชะงักเพราะพิษโควิด พบการผ่านร่างกฎหมายในวาระแรก และอยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ 8 ฉบับ ได้แก่

     1.ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท5

    2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 301 และมาตรา309 เกี่ยวกับการทำแท้ง

     3. ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

     4. ร่าง พ.ร.บ.ยกฐานะศาลแขวงนครไทย ศาลแขวงพยัคฆภูมิพิสัยและศาลแขวงเวียงป่าเป้า เป็นศาลจังหวัด พ.ศ. ....

     5.ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ...

     6.ร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด

     7.ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ...

     8.ร่าง พ.ร.บ.หอการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.....

     ขณะที่การทำงานของวุฒิสภา ในฐานะผู้รับช่วงตรวจสอบร่างกฎหมายที่ผ่าน สภาฯ​ นั้น ล่าสุดได้รับร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว

     นอกจากนั้น ยังมีร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาในวาระที่ 3 จำนวน 4 ฉบับ และรอการประกาศใช้ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขยายการจัดเก็บภาษีครอบคลุมไปถึงการประกอบธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์ 2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

     3.ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ​ และ 4. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ และตั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ

     ทั้งนี้ ยังมี 2 ร่างกฎหมายสำคัญที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของกรรมาธิการรัฐสภา คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

     เมื่อสรุปยอดการทำงานของ“ฝ่ายนิติบัญญัติ”ตลอดสมัยประชุมเทอมครึ่งที่ผ่านมา พบว่ามีกฎหมายเพียง 7 ฉบับที่สามารถบังคับใช้ได้

     อย่างไรก็ดี ในการทำงานหลังจากนี้ยังมีร่างกฎหมายสำคัญที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณา คือ ร่างกฎหมายที่ต้องออกตามวาระปฏิรูปประเทศ ที่ขณะนี้ร่างแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุงยังรอการพิจารณาของรัฐสภา หากผ่านแล้วจะมีร่างกฎหมายทั้งสิ้น 45 ฉบับ จากงานปฏิรูป 13 ด้าน ส่งให้รัฐสภาพิจารณา

161003249580

161003249566

161003249537

     ขณะนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบที่เสียหายต่องานนิติบัญญัติ จึงมีแนวทางที่เตรียมไว้เพื่อชดเชย วันประชุมที่หายไป ทั้งเพิ่มวันประชุม-ขยายสมัยประชุม และขอเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ เพื่อเคลียร์ร่างกฎหมายสำคัญ

     แต่ทั้งหมดมีปัจจัยที่ต้องถามไปยังรัฐบาลด้วยว่า จะเห็นด้วยกับวิธีการไหน เพราะเมื่อ “ฝ่ายค้าน” เตรียมยื่นญัติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หากต้องเพิ่มวันประชุม-ขยายสมัยประชุม หรือขอเปิดวิสามัญ “รัฐบาล” พร้อมจะรับมือกับศึกซักฟอกหรือไม่.