ค้าปลีกกระทุ้งรัฐรื้อจ้างงาน'รายชั่วโมง’พยุงธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด

ค้าปลีกกระทุ้งรัฐรื้อจ้างงาน'รายชั่วโมง’พยุงธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิด

โควิดเอฟเฟกต์ก่อวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี! ทั้งไทยและทั่วโลก พร้อมการเผชิญ “คลื่นดิสรัปชัน” จากเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจและสถานประกอบกิจการจำนวนมากต้องเผชิญแรงเหวี่ยงรอบด้าน

วิกฤติโควิดทุบเศรษฐกิจชะงักงัน กระทบภาคธุรกิจหนักถึงขั้น หยุดกิจการชั่วคราว บางส่วนหรือทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อตลาดแรงงาน แนวโน้มการจ้างงาน! หรือ อัตราการว่างที่เพิ่มสูงขึ้น นำมาซึ่งปัญหาในหลายมิติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้า 

ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นหัวใจสำคัญ คือ การจ้างงาน! ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิดเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมือนเดิม รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปมาก มีการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ โดย กระทรวงแรงงาน จะต้องทบทวนนโยบายการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความปกติใหม่ (New Normal) ในด้านการจ้างงาน และรองรับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจที่มีมากขึ้น 

ตลาดแรงงานจะก่อให้เกิดวิถีปกติใหม่ที่บริบทของการดำเนินกิจการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การทำงานเต็มเวลา จะกลายเป็นงานฟรีแลนซ์-พาร์ทไทม์ หรือทำงานที่บ้านมากขึ้น และมีค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง รัฐจะมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้ได้รับค้าจ่างที่เหมาะสม รองรับปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ และความปกติใหม่ในด้านการจ้างงานอย่างไร

ข้อมูลตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน ไตรมาส 2 ปี 2563 มีสูงถึง 5.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.4 ล้านคน จากระยะเดียวกันปีก่อน การที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย!

โดยมาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาแก่กลุ่มแรงงานที่อยู่ภาวะเสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน การจ้างงานประจำรายชั่วโมง” เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา! เพราะนายจ้างจะมีความยืดหยุ่นในการจ้างงาน ลูกจ้างสามารถมี รายได้ที่ 2” เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป 

จากข้อมูลของ JobThai ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า ธุรกิจบริการอาหาร-เครื่องดื่ม มีความต้องการแรงงานมากที่สุด 58,724 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 37,482 อัตรา เพียงแค่ 2 ธุรกิจมีความต้องการแรงงานเกือบแสนอัตรา! ในระยะสั้น ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา ในระยะยาว เมื่อภูมิทัศน์แรงงานปรับเปลี่ยนเข้าสู่วิถีปกติใหม่ และเทคโนโลยีดิสรัปชันเต็มตัว อัตราการจ้างงานรายชั่วโมงจะรองรับได้ถึง 200,000 อัตรา

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้เสนอแนวทางพิจารณาอัตราการจ้างงานรายชั่วโมงต่อกระทรวงแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ไปก่อนหน้านี้ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งพิจารณาออกประกาศอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือประคองธุรกิจท่ามกลางวิกฤติโควิดที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานและแนวโน้มการจ้างงาน

ทำไมการจ้างงานรายชั่วโมงถึงเหมาะกับธุรกิจภาคการค้าและบริการ?

ดร.ฉัตรชัย ขยายความต่อว่า ภาคบริการมีอิทธิพลต่อพัฒนาการและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งรายได้หลักของประเทศ สะท้อนจากสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้น จาก 50% เมื่อปี 2548 เป็น 60% ในปี 2561 จำนวนแรงงานในภาคบริการมีมากถึง 20 ล้านคน หรือ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับความสำคัญที่มากขึ้นในบริบทโลกที่เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เติบโตและร่ำรวยขึ้น ภาคบริการมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น สหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส ภาคบริการ มีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 75% ของ GDP

เมื่อพิจารณากระบวนการทำงานในภาคการค้าและบริการก็แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง กระบวนการการผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเส้นตรง เริ่มจากการผลิตซึ่งเครื่องจักรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถเปิดๆ ปิดๆ ได้ตามที่ต้องการ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้ง การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นระบบปิด ไม่ได้สัมผัสกับความต้องการ (Demand) ผู้บริโภคโดยตรง แรงงานจึงสัมพันธ์กำลังการผลิตที่เป็นลักษณะเส้นตรง การจ้างงานจึงควรต้องสัมพันธ์กับการผลิตซึ่งเป็นลักษณะเต็มวัน

แต่ธุรกรรมภาคการค้าและการบริการ ไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคมีลักษณะขึ้นลง ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกสินค้าเปิดให้บริการ 10.00-22.00 น. ซึ่งช่วง 10.00-12.00 น ผู้บริโภคมาจับจ่ายน้อย แต่จะเริ่มคึกคักช่วง 12.00-13.30 น. จากนั้นจะน้อยลงและกลับมาคึกคักอีกครั้งช่วง 18.00-20.00 น. ภัตตาคารร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกบริการ ก็จะคึกคักจนล้นในช่วง 12.00-14.00 น. แล้วจาก 14.00-18.00 น. จะค่อนข้างว่าง และกลับพีคไทม์อีกครั้ง 18.00-21.00 น. ร้านกาแฟ ก็จะพีคช่วง 07.00-09.00 น. และ 12.00-14.00 น. หลังจากนั้นจะว่างกันส่วนใหญ่

จะเห็นว่า การดำเนินงานของภาคการค้าและภาคบริการมีลักษณะเป็นลูกคลื่นขึ้นลงตามดีมานด์โดยตรง! การที่ธุรกิจภาคการค้าและบริการสามารถจ้างงานแรงงานทั่วไปเป็นรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วนหรือช่วงเทศกาลต่างๆ จะส่งผลให้การบริการเกิดประสิทธิภาพ ผลิตภาพ (Productivity) ของพนักงานจะสูงตามมาตรฐานการบริการ โดยอาจปรับการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วนและเทศกาลต่างๆ ให้มีอัตราค่าจ้างที่มีความหลากหลาย จูงใจลูกจ้าง และลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างในช่วงที่ไม่มีความจำเป็นในการจ้างงานในช่วงปกติ ซึ่งในอนาคตประเทศไทยการจ้างรายชั่วโมงอาจมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าการจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันก็เป็นไปได้ในงานที่มีทักษะการทำงานที่สูง

การจ้างงานรายชั่วโมงจึงมีข้อดีคือเป็นการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับให้เข้ากับ สถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาจกำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง เช่น ธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจนำร่อง อาจเป็นระยะเริ่มต้นทดลอง โดยกำหนดกรอบเวลาทดลองปฏิบัติ เช่น 1 ปี และประเมินผล มีหน่วยงานในการวิจัยและสำรวจสรุปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมา ธุรกิจภาคการค้าและบริการมีการจ้างรายชั่วโมงเฉพาะนักเรียน นักศึกษาและผู้สูงอายุตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ไม่พอเพียงและความยืดหยุ่นชั่วโมงค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจ้างนักศึกษา และผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะการทำงาน ความรู้ และความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะงานที่ต้องการเน้นในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเป็นการทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งและสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เพราะงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเต็มเวลา หรือทำอยู่ในสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้น และส่งเสริมการมีงานทำได้หลากหลายอาชีพมากขึ้นไม่ข้อจำกัดของสถานที่และเวลาในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนอกจากการจ้างงานแบบรายเดือนและรายวัน ยังมีการจ่ายค่าจ้างตามผลงานหรือชิ้นงานอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การจ้างงานประจำรายชั่วโมง Part Time กับการจ้างงานทั่วไป จะใช้ได้เฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานแบบอาชีพเสริม (Part-Time) แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ไม่สามารถปฏิบัติได้กับแรงงานทั่วไป เนื่องจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้จ่ายเป็นรายวันตามพื้นที่ที่กำหนด อีกทั้งยังเขียนไว้ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้างว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวันจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ซึ่งหมายถึง หากการจ้างงานชั่วคราว 4 ชั่วโมง นายจ้างก็ต้องจ่ายเต็มแปดชั่วโมงนั่นเอง

“แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าวันละแปดชั่วโมงสำหรับงานทั่วไป หรือเจ็ดชั่วโมงสำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพฯ ลูกจ้างทุกประเภทก็ต้องได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในหนึ่งวัน จะคำนวณโดยเฉลี่ยจ่ายเป็นรายชั่วโมงมิได้ เพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างกำหนด” “ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541”

การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับการจ้างงานในภาคการค้าและบริการ แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้เต็มที่ในภาคอุตสาหกรรมการจ้างงานสำหรับภาคการค้าสินค้าและการค้าบริการเป็นอัตราการจ้างงานเพิ่ม มิได้ไปทดแทนการจ้างงานประจำแต่อย่างใด เพื่อสอดรับการให้บริการช่วงพีคของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด