"ททท" เผยสภาพัฒน์เตรียมชง ครม.พิจารณาขยายเวลาเลื่อนหรือขยายการเข้าพัก"เราเที่ยวด้วยกัน" ถึง30เม.ย.64

"ททท" เผยสภาพัฒน์เตรียมชง ครม.พิจารณาขยายเวลาเลื่อนหรือขยายการเข้าพัก"เราเที่ยวด้วยกัน" ถึง30เม.ย.64

“ททท.” เผย “สภาพัฒน์”เตรียมชง ครม.พิจารณาขยายระยะเวลา "เลื่อนหรือขยายการเข้าพัก" โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ถึง30เม.ย.64 แก้ปมโควิดทำพิษ นักท่องเที่ยวไทยแห่ขอเลื่อนวันเข้าพัก ด้านธนาคารกรุงไทยขอเวลาแก้ไขระบบ1เดือน เคลียร์เรื่องค่าที่พักรัฐช่วยจ่าย40%

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า ได้หารือกับนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงกรณีการให้เลื่อนการเข้าพักหรือคืนเงินจองโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ โดยไม่ต้องนำไปพิจารณาในคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ เพื่อจะได้นำเสนอไปพร้อมกับแพ็คเกจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 40 ล้านคนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ไปหารือกับกระทรวงการคลังและ สศช.

โดยเบื้องต้นทางเลขาธิการ สศช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ระบุว่า ผู้ที่จองโครงการเราเที่ยวด้วยกันไว้จะให้เลื่อนหรือขยายการเข้าพักให้ก่อนไปถึงสิ้นเดือน เม.ย.2564 ตามอายุของโครงการฯ จากนั้นค่อยไปว่ากันอีกครั้ง ซึ่งจะได้หารือกับสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ด้วย และในสัปดาห์หน้าจะหารือกับภาคเอกชนท่องเที่ยวทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการเสริมสภาพคล่องและพยุงการจ้างงาน อาจต้องมาอัพเดตว่าทางภาคเอกชนต้องการอะไรเพิ่มเติม

“สรุปแล้วโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้เลื่อนการเดินทางไปได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย.นี้ก่อน หากจะเลื่อนออกไปจากนี้ ต้องรอให้รัฐบาลพิจารณาขยายระยะเวลาโครงการก่อน ส่วนที่จะให้ขยายออกไป 6 เดือนถึง 1 ปีนั้น ค่อยมาว่ากันในภายหลัง เพราะตอนนี้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เนื่องจากนักท่องเที่ยวหลายคนกำหนดจะเดินทางในเดือนนี้เดือนหน้าแล้ว ส่วนอนาคต ททท.คาดการณ์ว่าคงต้องขยายระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันต่อไป เพราะการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยคงหายไปเลยในช่วง 2 เดือนนี้”

ด้านการแก้ไขหน้าเว็บไซต์ เราเที่ยวด้วยกัน.com ได้หารือกับธนาคารกรุงไทย ในฐานะผู้ทำระบบขอเวลาในการแก้ไข 1 เดือนสำหรับเรื่องการขอเลื่อนการเข้าพักสถานที่ที่จองเอาไว้ เพราะการจองผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ต้องมีการเอาโค้ดจองไปเคลียร์การจ่ายเงิน

“ประเด็นตอนนี้คือประชาชนที่จองได้จ่ายเงินส่วน 60% ไปแล้ว และหวังว่า 40% จะมีการช่วยจ่ายจากรัฐ แต่ที่ผ่านมาเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกันระบุว่าห้ามเลื่อน ห้ามยกเลิก พอมีการเลื่อนก็ไม่การันตีว่าส่วนของรัฐช่วยจ่าย 40% จะตามไปด้วย จึงต้องแก้ไขระบบให้ 40% ตามไปด้วย จะได้สบายใจและเป็นการป้องกันเพราะบางคนก็คิดลึกไปว่า เอกชนจะไปเก็บเงิน 2 ทางหรือไม่ คือเก็บทั้งจากผู้เข้าพัก 40% กรณีขอเลื่อนและจะไปเก็บจากรัฐบาลอีก 40% กลายเป็นได้เงิน 140%”

ทั้งนี้คนที่ต้องการเลื่อนการเข้าพักของเดือน ม.ค.นี้เป็นการใช้สิทธิเก่าใน 5 ล้านห้องแรกที่รัฐบาลให้มา ส่วน 1 ล้านห้องใหม่ที่รัฐบาลเพิ่งเปิดให้จองเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2563 พบว่ายังไม่มีการจองสิทธิไปมากนัก ซึ่งได้หารือกับสมาคมโรงแรมไทยให้เขาเลื่อนไปก่อน และให้ทำหมายเหตุไว้ เพราะในช่วงนี้ไม่มีการเดินทางอยู่แล้ว