กยท.เร่งแก้ใบยางร่วง หลังผลผลิตลดกว่า 50% 

กยท.เร่งแก้ใบยางร่วง หลังผลผลิตลดกว่า 50% 

กยท.ระดมผู้เชี่ยวชาญหาทางแก้ปัญหาโรคใบยางร่วงชนิดใหม่ หลังระบาดหนักทำผลผลิตลดกว่า 50% ชี้มาตรการป้องกันและยับยั้งเชื้อราสามารถดำเนินการทันที

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา เริ่มระบาดเข้าสู่ประเทศเมื่อปี 2562 มีพื้นที่การระบาดประมาณ 800,000 ไร่ ส่งผลให้ใบยางพาราเกิดอาการร่วงอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตยางพาราลดลงถึง 50% เกษตรกรชาวสวนมีรายได้ลดลงตามไปด้วย

ซึ่งในปี 2563 พื้นที่การระบาดค่อนข้างใกล้เคียงกับ 2562 และปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ คาดว่าการระบาดจะมีอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กยท. ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในการบริหารจัดการโรคใบร่วงฯ มีหน้าที่ดำเนินการมาตรการต่างๆ ได้แก่ การศึกษาข้อมูลพื้นฐานโรค การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกัน และมาตรการยับยั้ง เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ การเข้าไปดำเนินการกับต้นยางพารา ซึ่งมีขนาดใหญ่ในสภาพแปลงที่มีลักษณะทางภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน จึงขาดข้อมูลพื้นฐานและข้อมูลในเชิงเทคนิคบางประการ จำเป็นต้องบูรณาการร่วมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัย ผู้แทนเกษตรชาวสวนยางและสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่โรคระบาด เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในยางพารา กำหนดมาตรการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ

เบื้องต้นต้องร่วมกันศึกษาเชื้อสาเหตุให้ได้ผลที่แน่ชัด หาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพ่นสารและจำนวนครั้งที่ต้องพ่น จัดทำมาตรฐานประเมินความรุนแรงของโรค(Standardize) สำรวจผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง จัดให้มีศูนย์รวบรวมข้อมูลพื้นที่เกิดโรครวมทั้งสภาพสวนยางและสภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจุบันที่สุด สำหรับนำมาใช้ในการตัดสินใจบริหารจัดการโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ด้านมาตรการป้องกันและยับยั้งเชื้อราที่ดำเนินการได้โดยเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความพร้อม เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ ไตรโคเดอมา ชีวภัณฑ์ของสถาบันราชภัฏยะลา สามารถดำเนินการได้เลย