เจาะลึก 'ผีพนัน' โรคเสพติด ที่โควิดก็ไม่กลัว

เจาะลึก 'ผีพนัน' โรคเสพติด ที่โควิดก็ไม่กลัว

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้พฤติกรรมติด “การพนัน” เป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่า “พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง” (Pathological Gambling) ชวนรู้อาการและพฤติกรรมว่าแบบไหนที่จะต้องได้รับการรักษา

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งนั้นมีผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นนักพนัน ที่ ‘เล่นพนัน’ ใน ‘บ่อน’ จนกลายเป็นการกระจายเชื้อในวงกว้าง แต่ถึงอย่างนั้นแม้จะมีคำสั่งขอความร่วมมือจากนักเล่นทั้งหลายถึงมาตรการการควบคุมโรค แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ยังคงเดินหน้าเล่นพนันกันอย่างต่อเนื่อง

เพราะอะไร นักพนันเหล่านี้ถึงหยุดเล่นไม่ได้? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเจาะลึกโรคเสพติดการพนัน และวิธีแก้ปัญหาของผู้ที่มีอาการเสพติดเพื่อชีวิตที่ดีในอนาคต

161000165031

  • เสพติดการพนัน เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง

องค์การอนามัยโลกกำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง เรียกว่า “พาโธโลจิคอล แกมบลิ้ง” (Pathological Gambling) ซึ่งถึงแม้เจ้าตัวรู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นสิ่งไม่ดี เป็นสิ่งผิด หรือส่งผลร้ายต่อชีวิต เช่น การเงิน การเรียน สุขภาพ หรือสังคม แต่ก็อดไม่ได้ที่จะไม่ทำ คล้ายการติดสารเสพติด มีจิตใจจดจ่ออยู่กับการพนันตลอดเวลา ไม่สามารถคิด หรือทำอย่างอื่น มีแต่ความโหยหาอยากเล่น ยากที่จะควบคุม

ในที่สุดก็เล่นการพนันต่อโดยไม่ยั้งคิด พฤติกรรมพวกนี้คล้ายพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษา โดยในรายที่มีอาการมาก อาจต้องให้ยาลดการย้ำคิดย้ำทำ จากนั้นต้องพาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ให้มีการเล่นพนัน รวมถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการควบคุมตัวเอง หางานอดิเรกให้ทำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับครอบครัว

ในปี 2555 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (ตำแหน่งในขณะนั้น) กล่าวว่า โรคติดการพนัน เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะไม่สามารถต่อต้านแรงกระตุ้นหรือความอยากของตนเอง จะหมกมุ่นเหมือนกับผู้ป่วยย้ำคิดย้ำทำ หรือผู้ป่วยติดสุราหรือสารเสพติด ผู้ที่ติดการพนันจะควบคุมแรงกระตุ้นที่อยากจะเล่นการพนันไม่ได้ จนส่งผลเสียต่อชีวิตในด้านต่างๆ โรคติดการพนันอาจเกิดร่วมกับการเจ็บป่วยทางจิตอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า โรคอารมณ์ 2 ขั้ว หรือติดการพนันแล้วมีภาวะซึมเศร้า ติดเหล้า ติดยาเสพติด

ผลวิจัยจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบผลเสียหายด้านสุขภาพจิต คือ คนติดพนันมีปัญหาความผิดปกติด้านอารมณ์ แบบโรคซึมเศร้าแบบขั้วเดียวถึง ร้อยละ 70 และความผิดปกติด้านอารมณ์รุนแรงสลับไปมา 2 ขั้ว ร้อยละ 30 ผลเสียหายจากการติดพนันอย่างหนัก คือ การคิดเรื่องฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายราว ร้อยละ 17-24

คนติดพนันอย่างหนักมักจะมีการพยายามฆ่าตัวตายอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงชีวิต ส่วนใหญ่เกิดขึ้นทันทีหลังจากเล่นสูญเสียเงินจำนวนมากและผลเสียด้านสุขภาพจิตอีกเรื่อง คือ การสร้างและคงรักษาไว้ซึ่งกระบวนการรู้คิดที่บิดเบือน เกี่ยวกับการเล่นการพนัน เช่น การคิดว่าตัวเองมีทักษะการเล่นพนันแบบเอาชนะได้ เชื่อว่าโอกาสแพ้ชนะมี 50-50 ทั้งที่ความจริงแล้วการพนันหลายอย่าง การชนะมีเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่าการแพ้หลายเท่ามาก ฯลฯ

เช่นเดียวกับ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2555 นพ.ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต (ตำแหน่งในขณะนั้น) กล่าวว่า จากข้อมูลการเสพติดทุกประเภทพบว่า ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง คือ สมองผู้ชายต้องการสิ่งเร้า การกระแทกที่แรงกว่าผู้หญิง แล้วมันมีศูนย์ความก้าวร้าวใหญ่กว่า ส่วนผู้หญิงถ้าติดการพนันแล้วพบว่ามีสัดส่วนของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าผู้ชายที่ติดการพนัน แต่เชื่อว่านักพนันหญิงสามารถรักษาหรือช่วยเหลือได้ง่ายกว่านักพนันชาย เพราะผู้หญิงให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์คนรอบข้างมากกว่า ถูกกระตุกได้ง่ายกว่า

  • สาเหตุการติดการพนัน

1. พันธุกรรม จากการศึกษา พบว่าผู้ป่วยที่ติดการพนันมักมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมด้วย

2. สังคม สิ่งแวดล้อม ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เล่นการพนัน เช่น บ้านเป็นบ่อนการพนันหรืออยู่ในย่านชุมชน เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนฝูงเล่นการพนันมักจะถูกสิ่งแวดล้อมดังกล่าวชักจูงได้ง่ายขึ้น

3. สิ่งยั่วยุ ทั้งจากสื่อมวลชน เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ นิตยสารเฉพาะกลุ่มกีฬาที่มีการวิเคราะห์เกมการเล่นของแต่ละทีม หรือชี้นำผลการแข่งขันมีส่วนยั่วยุให้คนที่มีแนวโน้มจะเล่นการพนันอยู่แล้วถูกกระตุ้นให้เล่นการพนัน และผู้ที่เล่นอยู่แล้วเล่นในปริมาณที่มากขึ้น

4. ระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ เกิดการหลั่ง สารโดปามีน ในสมองมาก ซึ่งเป็นสารที่ทำให้บุคคลรู้สึกตื่นเต้น เป็นสุข สนุกสนาน ขณะที่สารสื่อประสาทสมอง ซีโรโทนิน ลดลง ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้บุคคลมีความยับยั้งชั่งใจ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนติดการพนัน โดยสาเหตุทั้ง 4 ข้อนี้ มักจะเกิดควบคู่กัน

161000174581

  • รู้ได้อย่างไรว่าเล่นการพนันถึงขั้นเสพติด?

สมาชิกในครอบครัวและคนรอบข้างต้องคอยสังเกตพฤติกรรมคนใกล้ชิดของเราว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เช่น การเรียน การงานเสียไปไหม แยกตัวออกไปจากกลุ่มหรือเปล่า หมกมุ่นอยู่กับอะไรเป็นพิเศษ และช่วยตักเตือนให้เขารู้จักเตือนตัวเองและควบคุมตัวเองในการเสพสื่อที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันมีสิ่งต่างๆ มากมายที่จะเข้ามายั่วยุและชวนเชื่อ

สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าช่ายเสพติดการพนันหรือไม่ สามารถใช้แบบคัดกรองการติดการพนันแบบง่ายๆ ประกอบด้วยข้อคำถาม 20 ข้อ โดยหากตอบ “ใช่” ตั้งแต่ 7 ข้อขึ้นไปแสดงว่ามีแนวโน้มที่จะมีปัญหาการเล่นการพนัน

1. เวลางานหรือเวลาเรียนของคุณเสียหายเพราะการพนัน

2. การเล่นการพนันของคุณเคยทำให้ชีวิตครอบครัวไม่มีความสุข

3. การเล่นการพนันของคุณเคยทำให้คุณเสื่อมเสียชื่อเสียง

4. คุณเคยรู้สึกสำนึกผิดหลังจากเล่นการพนัน

5. คุณเคยเล่นการพนันเพื่อให้ได้เงินมาใช้หนี้พนันหรือแก้ปัญหาการเงิน

6. การพนันทำให้ความสามารถต่างๆในตัวคุณมีประสิทธิภาพน้อยลง

7. หลังจากเสียพนัน คุณรู้สึกว่าต้องกลับมาเล่นอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดและต้องเอาคืนของที่เสียไป

8. หลังจากชนะพนัน คุณมีความต้องการอย่างรุนแรงที่จะเล่นอีกครั้งและเอาชนะให้มากขึ้น

9. บ่อยครั้งที่คุณเล่นพนันจนกระทั่งเหลือสตางค์สุดท้าย

10. คุณเคยยืมเงินเพื่อนำมาเป็นทุนในการเล่นพนัน

11. คุณเคยขายของใดๆ เพื่อนำมาเป็นทุนในการเล่นพนัน

12. คุณไม่เต็มใจที่จะใช้เงินจะใช้พนันไปใช้ในการจับจ่ายใช้สอยอย่างอื่น

13. การพนันทำให้คุณไม่ใส่ใจต่อความเป็นอยู่ของตัวคุณเองหรือครอบครัวของคุณ

14. คุณเคยเล่นการพนันนานกว่าที่คุณวางแผนไว้

15. คุณเคยเล่นการพนันเพื่อหลีกหนีจากความกังวลหรือปัญหาอื่น

16. คุณเคยกระทำหรือคิดจะกระทำผิดกฎหมายเพื่อนำเงินไปใช้เป็นทุนในการพนัน

17. การพนันทำให้คุณนอนหลับยากขึ้น

18. การโต้เถียงกัน ความผิดหวัง หรือ ความรู้สึกอึดอัด ส่งผลให้คุณเกิดความอยากไปเล่นการพนัน

19. คุณเคยมีความรู้สึกอยากฉลองเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการไปเล่นพนันสักสองสามชั่วโมง

20. คุณเคยทำร้ายตนเองหรือพยายามฆ่าตัวตายอันเป็นผลมาจากการพนันของคุณ

  • เล่นการพนันขั้นไหนถึงต้องรีบรักษา

อาการหรืออาการแสดงของการติดการพนันตามเกณฑ์การวินิจฉัยของ American Psychiatric Association มีดังนี้

ชนิดของพฤติกรรมการเสพติดพนัน

ติดการพนัน (pathological gambler)

มีปัญหาจากการพนัน (problem gambler)

ผู้เล่นพนันที่ดูเสี่ยงจะติด (at-risk gambler)

นักพนันมืออาชีพ (professional gambler)

คนที่เป็นโรคติดการพนัน สามารถรักษาตัวเองได้ ถ้าไม่ติดรุนแรง แต่ถ้าติดรุนแรงจะต้องประเมินด้วยว่ามีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจแทรกซ้อนหรือไม่ เช่น ซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย เป็นโรคทางจิตเวชบางชนิด คนที่เล่นการพนันทุกวัน ถึงขั้นหมกมุ่น แสดงว่าชีวิตเขาไม่มีอะไรอื่นในหัวเลยนอกจากการพนัน เหมือนพวกติดยา ต้องได้รับการรักษาด้วยพฤติกรรมบำบัดและยา ขณะเดียวกันต้องได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาคือ การรักษาซับซ้อนกว่าเรื่องยาเสพติดธรรมดาการช่วยเหลือทำได้อย่างไรบ้าง

  • ข้อควรปฏิบัติให้เลิกเสพติด "การพนัน"

ในกรณีที่พบว่าคนใกล้ชิดมีพฤติกรรมติดพนันแล้ว ก็มีแนวทางช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนสายเกินไป ดังนี้

1. นึกถึงสิ่งดีๆ หรือศักยภาพในตัวเขา

2. ให้มีสติ ใจเย็น เมื่อพูดคุยถึงการติดการพนันของเขาและผลกระทบที่ตามมา

3. บอกเขาว่า คุณเองที่ต้องการความช่วยเหลือ เพราะได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของเขา

4. ดูแลด้านจิตใจและสังคมให้เขาเป็นพิเศษ แนะนำให้เขาทำกิจกรรมที่ได้ระบายความเครียด ความก้าวร้าวในตัวออกไป เช่น การเล่นกีฬา

5. จัดตารางเวลาการตื่นนอนและการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม

6. กำหนดขอบเขตการบริหารเงิน ควบคุมค่าใช้จ่ายของครอบครัว เช่น บัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต

7. อธิบายเกี่ยวกับปัญหาติดพนันให้เขาเข้าใจ สื่อสารให้เขาตระหนักรู้ว่าตัวเองมีความผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษาและพบแพทย์ก่อนมีปัญหาร้ายแรง

8. เข้าใจว่าโรคติดพนันต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา

9. ติดตามผลว่าเขามีปัญหาทางด้านอารมณ์หรือไม่ ในรายที่ไม่ได้เล่นการพนัน แล้วมีอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว ซึมเศร้า ต้องรีบปรึกษาแพทย์

10. พาไปพบผู้เชี่ยวชาญหรือพบจิตแพทย์

161000180064

  • สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติแก่ผู้ป่วย และผู้ป่วยเองก็ไม่ควรทำ

1. ตำหนิ บ่น หรือ ปล่อยให้ความโกรธครอบงำ

2. ตัดเขาออกจากครอบครัวหรือกิจกรรมของครอบครัว

3. คาดหวังว่าเขาจะหายจากการติดพนันในทันทีเมื่อหยุดเล่นพนัน

4. ใช้หนี้แทน แก้ปัญหาหนี้สินให้ หรือประกันตัวเขาเมื่อมีปัญหาหนี้สิน

5. ปิดบัง หรือไม่ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาของตัวเองและครอบครัว

  • อาการเสพติด "การพนัน" รักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษามักใช้วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral therapy) การให้คำปรึกษา (Counseling) หรือการเปลี่ยนแนวคิด (Cognitive Therapy) และอาจให้เข้าร่วมกลุ่มเพื่อให้การสนับสนุนและให้กำลังใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมการเล่นการพนัน ร่วมกับการรักษาด้วยยา ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ควรรักษาโรคอื่นที่พบร่วมกับการติดการพนัน เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการติดสารเสพติดชนิดอื่น เช่น เหล้า บุหรี่ จะช่วยให้การติดการพนันดีขึ้นได้

----------------------

อ้างอิง : manarom psyclin.co.th th.rajanukul