'เยียวยาโควิด' ล่าสุด! รายละเอียด 'เงินเยียวยา' มีอะไร ใครได้สิทธิบ้าง?

'เยียวยาโควิด' ล่าสุด! รายละเอียด 'เงินเยียวยา' มีอะไร ใครได้สิทธิบ้าง?

เปิดมาตรการรัฐรอบใหม่ "เยียวยาโควิด" มีรายละเอียด "เงินเยียวยา" อย่างไรบ้าง? มาตรการคนละครึ่ง เราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 เยียวยาเกษตรกร เราเที่ยวด้วยกัน จะมาอีกครั้งหรือไม่? ใครได้รับสิทธิในครั้งนี้บ้าง?

มาตรการรัฐในการ "เยียวยาโควิด" จำเป็นต้องกลับมาใช้อีกครั้งเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน จากผลกระทบการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น และยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะยังคงพบผู้ติดเชื้อหลักร้อยคน ต่อเนื่องมาเกินกว่า 10 วันแล้ว 

โดยเร็วๆ นี้ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงหลังการประชุม ครม.ว่า ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่จะต้องดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย ได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ รวมทั้ง รมว.คลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปหามาตรการในการช่วยเหลือเพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนนี้ เพื่อดูแลคนเกือบ 40 ล้านคน สำหรับมาตรการที่จะออกมาจะเพิ่มเติมจากมาตรการของเดิมบางอย่างที่มีอยู่แล้วก็จะต้องยืดระยะเวลาออกไปให้ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน 

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดูแลและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อน เนื่องจากครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้มีการล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการเข้มงวดมาตรการในบางพื้นที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

โดยใน ครม.ไม่ได้มีการพูดถึงการแจกเงินเยียวยาเหมือนในช่วงก่อนที่ใช้โครงการเราไม่ทิ้งกันที่มีการแจกเงินคนละ 5,000 บาท 3 เดือน แต่ให้หน่วยงานต่างๆไปทบทวนว่าจะปรับเปลี่ยนมาตรการที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ เพราะบางมาตรการอย่างคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกันเป็นมาตรการที่ต้องขยายเวลาออกไป

“มีการช่วยเหลือในลักษณะอื่นๆ ที่เคยทำมาก็อาจจะมีการพิจารณาเช่นมาตรการลดค่าครองชีพ มาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดต่างๆจะมีการหารือกันที่ประชุม ศบศ. เพื่อออกมาเป็นชุดมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2564 ยังมีงบประมาณและเงินกู้ที่เหลืออยู่สามารถนำมาใช้ได้” 

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ภาครัฐมีแหล่งเงินในการช่วยเหลือและเยียวยาจาก 3 แหล่ง ดังนี้

1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท

2.เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ..2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล  วันที่ 25 ธันวาคม 2563)

3.งบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท

ด้าน นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ระบุว่า ผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่จะรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะเดือน เม..2563 ผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าสถานการณ์จะลากยาวไม่น้อยกว่า 3 เดือน

โดยการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม 

1.มาตรการสำหรับทุกคน เพราะสถานการณ์รุนแรงขยายไปทั่วประเทศ รัฐสามารถช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการและเด็กยากจน หรือให้เงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน เป็นโครงการ เราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ทำได้ตามหลักวิชาการ

2.มาตรการเฉพาะจุด เพราะผลกระทบแต่ละพื้นที่ และแต่ละธุรกิจไม่เท่ากัน