'เทคโนโลยีสีเขียว'แนวรบใหม่สหรัฐ-จีน

'เทคโนโลยีสีเขียว'แนวรบใหม่สหรัฐ-จีน

'เทคโนโลยีสีเขียว'แนวรบใหม่สหรัฐ-จีน โดยรัฐบาลปักกิ่งพยายามสะสมแต้มด้านการทูตจากสาธารณชนและพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแซงหน้าสหรัฐในประเด็นสิ่งแวดล้อม

บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงชื่อดังของโลกเตือนว่า หนึ่งในสิบความเสี่ยงสำคัญในปีนี้ของสถานการณ์โลกคือความเป็นปฏิปักษ์ของจีนและสหรัฐที่ขยายวงไปยังส่วนอื่นๆอย่างเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดอยู่แล้วระหว่างจีนและสหรัฐเลวร้ายลง

“ปัจจัยลบใหม่ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนเลวร้ายลงคือการแข่งขันพัฒนาเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราไม่ได้เห็นตลอด4ปีที่ผ่านมาในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ บริหารประเทศ เนื่องจากโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐที่จะสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ประกาศชัดเจนว่าการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญอันดับต้นๆที่ต้องทำเมื่อได้บริหารประเทศ”ลีออน เลวี นักวิเคราะห์ระดับอาวุโส จากยูเรเซีย กรุ๊ป กล่าว

รายงานประจำปี“ท็อป ริสก์”ของยูเรเซียที่ได้รับการเผยแพร่ในสัปดาห์นี้ระบุว่า ปัจจุบัน จีนเป็นผู้นำในการพัฒนาพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหลายประเภท รวมถึง แบตเตอรี พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม และรัฐบาลปักกิ่งก็พยายามสะสมแต้มด้านการทูตจากสาธารณชน รวมทั้งพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแซงหน้าสหรัฐในประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วยการให้คำมั่นว่าจะเป็นกลางด้านคาร์บอนภายในปี 2603
สวนทางกับสหรัฐที่ละเลยประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เริ่มกระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงขอองสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการด้วยการแจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) หลังจากเขาประกาศเจตนารมณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2560 ทำให้สหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงนี้

ข้อตกลงปารีสเป็นส่วนหนึ่งของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 โดยกำหนดว่าประเทศต่างๆ ทั้ง 188 ประเทศรวมทั้งสหรัฐ จะต้องร่วมกันรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 2 องศาเซลเซียส และจะพยายามเพิ่มขึ้นอีกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

แต่ทรัมป์ กลับมองว่าข้อตกลงนี้ทำให้สหรัฐแบกรับภาระหนักกว่าประเทศอื่นและทำให้คนอเมริกันตกงาน แถมยังกล่าวว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อนอันดับต้นๆ อย่างจีนและอินเดีย ทำไมถึงไม่ต้องแบกรับภาระหนักเหมือนสหรัฐภายใต้ข้อตกลงปารีส

นอกจากนี้ รายงานประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับสถานการณ์โลกในปีนี้ของยูเรเซีย ยังระบุว่า การมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวการค้าทวิภาคีและเทคโนโลยี การปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และปัญหาทะเลจีนใต้ยังคงเป็นปัญหาร้อนแรงในปีนี้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลง

รายงานเตือนจากยูเรเซีย มีขึ้นในวันเดียวกับทำเนียบขาว แถลงว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งบริหารเมื่อวันอังคาร (5 ม.ค.) เพื่อห้ามการทำธุรกรรมกับแอพพลิเคชันซอฟท์แวร์ของจีน 8 ราย รวมถึง อาลีเพย์ของบริษัทแอนท์ กรุ๊ป ซึ่งจะเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนมากขึ้น ก่อนที่ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนนี้

คำสั่งดังกล่าวของทรัมป์มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐกำหนดเกี่ยวกับธุรกรรมที่จะถูกสั่งห้าม โดยมุ่งเป้าไปที่แอปพลิเคชัน 8 รายของบริษัทจีนซึ่งได้แก่อาลีเพย์ แคมสแกนเนอร์ คิวคิว วอลเลท แชร์ไอที เทนเซนต์ คิวคิว วีเมท วีแชท เพย์ และดับเบิลยูพีเอส ออฟฟิศ

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คำสั่งดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อควบคุมภัยคุกคามของชาวอเมริกันที่เกิดจากแอพพลิเคชันซอฟท์แวร์ต่างๆของจีนซึ่งมีฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ และสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว

คำสั่งบริหารของทรัมป์ระบุชัดเจนว่า สหรัฐต้องดำเนินการอย่างแข็งกร้าวกับแอพเหล่านี้เพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ และให้เวลากระทรวงพาณิชย์สหรัฐ 45 วันในการดำเนินการเพื่อห้ามการทำธุรกรรมกับแอพเหล่านี้ แต่กระทรวงฯวางแผนที่จะดำเนินการก่อนวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันที่ปธน.ทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่ง

มองดูเหมือนเป็นการทิ้งทวนของทรัมป์ก่อนลงจากเก้าอี้ผู้นำ โดยไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ทรัมป์ก็สร้างผลงานทิ้งทวนก่อนจากไว้ลักษณะคล้ายๆกัน ด้วยการลงนามในคำสั่งคณะผู้บริหารประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ถูกควบคุมหรือเป็นเจ้าของโดยกองทัพจีน ซึ่งรวมถึงบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม 3 แห่งของจีน อันได้แก่ไชนาเทเลคอม, ไชนาโมบายล์ และไชนายูนิคอม จนส่งผลให้ เมื่อวันที่ 31ธ.ค.ปีที่แล้ว ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (เอ็นวายเอสอี)แถลงว่าจะถอดถอนหุ้นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม 3 แห่งของจีนออกจากการซื้อขายในตลาด

แต่ในอีกไม่กี่วันถัดมา เอ็นวายเอสอี ออกแถลงการณ์ยกเลิกแผนการถอดถอนหุ้นบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม 3 แห่งของจีนออกจากการซื้อขายในตลาด หลังจากที่ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสำนักงานควบคุมสินทรัพย์ต่างชาติ

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามบังคับใช้กฎหมาย “The Holding Foreign Companies Accountable Act” ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่พุ่งเป้าถอดหุ้นของบริษัทต่างๆ ออกจากตลาดหุ้นสหรัฐ หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชี Public Accounting Oversight Board (PCAOB) ของสหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปี

แม้กฎหมายดังกล่าวจะออกมาเพื่อบังคับใช้กับบริษัทต่างชาติทั้งหมดที่จดทะเบียนในสหรัฐ แต่ก็ถูกมองว่าเป็นการพุ่งเป้าไปที่บริษัทของจีนโดยเฉพาะ ซึ่งถือเป็นความพยายามอีกครั้งของรัฐบาลปธน.ทรัมป์ที่จะเพิ่มความตึงเครียดกับจีนในสัปดาห์ท้ายๆก่อนจะถ่ายโอนอำนาจในการบริหารประเทศให้แก่ไบเดน