เปลี่ยนแผนล็อก "สภา" ล้มสรรหากสทช.!!!

เปลี่ยนแผนล็อก "สภา" ล้มสรรหากสทช.!!!

เผยมีขบวนการเร่งล้มกระบวนการสรรหากสทช. ชี้ผู้มีอำนาจใกล้ชิดรัฐบาลแทรกแซงส.ว.พร้อมถก 8 อรหันต์ รับร่าง พ.ร.บ. กสทช. พร้อมต่ออายุให้บอร์ดชุดเดิมนั่งบริหารต่ออีก 1 ปี

ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าคนใกล้ชิดรัฐบาล ยังคงมีความพยายามที่จะล้มการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพียงเพื่อซื้อเวลา ให้ผู้ใกล้ชิด "บิ๊กรัฐบาล" ซึ่งถูกวางตัวให้เป็น "ประธานบอร์ดกสทช." แต่ว่าคุณสมบัติของเขาขัดต่อการเป็นบอร์ดกสทช.

เนื่องจาก ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการขององค์กรรัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประเภทที่ 3 ของกสทช.และแม้ผู้มีอำนาจของฝ่ายบริหารไม่สามารถจะใช้มติของคณะรัฐมนตรีเพื่อล้มกระบวนการสรรหากสทช.ได้ เนื่องจากจะเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารแทรกแซงองค์กรอิสระซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เหตุผลที่คนใกล้ชิดรัฐบาลยังคงมีความพยามที่จะล้มกระบวนการสรรหา พร้อมกับเปลี่ยนแผนใหม่โดยใช้อำนาจของวุฒิสภา ให้รีบลงมติให้รับกฎหมายฉบับใหม่ให้ผ่านเพื่อเป็นข้ออ้างให้ล้มกระบวนการสรรหาแล้วให้บอร์ดชุดเดิมรักษาการออกไปอีกอย่างน้อย 1 ปี

ก็เพียงเพื่อให้ คนของ "ต" พ้นเงื่อนไขว่าต้องเว้นวรรคอย่างน้อย 1 ปี เพื่อที่จะสมัครได้ตาม พ.ร.บ.กสทชฉบับใหม่ เนื่องจากไม่ได้มีการแก้ไขเงื่อนไขเว้นวรรคอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะทำให้บอร์ด กสทช ชุดปัจจุบันรักษาการไปเรื่อยและได้ต่ออายุรักษาการกรรมการ กสทช. มากว่า 3 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปิดเผยจากแหล่งข่าวว่าระดับสูงว่า ผู้มีอำนาจของฝ่ายบริหารนาม ว.บริกร ได้มีการแทรกแซง โดยมีการประสานงานกับ สว. บิ๊ก ย. ให้รีบนำร่าง พ.ร.บ.กสทช เข้าสู่ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญอย่างเร่งรีบในวันที่ 11 มกราคม 2564 และนัด 8 สว. ผู้เตรียมแปรญัตติเคลียร์ในชั้นประชุมนี้ เพื่อให้วุฒิสภารับร่างพ.ร.บ.กสทช.โดยไม่ต้องมีการแปรญัตติใดๆ แม้ว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญซึ่งสว.หลายท่านได้อภิปรายในการประชุมสภาร่วมไว้ว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างพรบ.กสทช.ฉบับร่างของสส.อยู่หลายประเด็น  

ทั้งนี้ วุฒิสภาลงมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.กสทช. ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ แม้จะลงมติรับ แต่ในสาระยังมีข้อขัดแย้ง ที่ส่อแววว่า จะไม่ยอมเห็นชอบเนื้อหา เพราะมีจุดอ่อนที่อาจทำให้เกิดปัญหา การประชุมวุฒิสภา ช่วงเย็น เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 วาระพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ....   หรือ พ.ร.บ.กสทช.  

ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านการพิจารณา แม้ว่า วุฒิสภา จะลงมติรับหลักการ ด้วยเสียง 159 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 3 เสียง แต่ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กสทช. นั้นมีข้อท้วงติงจากส.ว. อย่างน้อย  3 ประเด็นหลักๆ คือ 1. สเปคของ “กรรมการ กสทช.” ทั้ง 7 คนที่ 4 ใน 7 กำหนดให้มาจาก ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน , ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1 คน, ด้านอื่นๆ  2 คน  ซึ่ง  

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์. ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (ไอซีที) ที่วุฒิสภามอบหมายให้ศึกษา อภิปรายในข้อสังเกตว่า  

มีการเปิดช่องให้ กรรมการสรรหาพิจารณาไม่รอบคอบ ไม่ถ่องแท้ และเสนอให้ปรับ คุณสมบัติใน 4 กสทช. นั้นมาจาก 6 ด้าน คือ  ด้านดาวเทียม, ด้านสื่อสาธารณะ, ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และ คุ้มครองผู้บริโภค, ด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, ด้านกฎหมายมหาชน และ ด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ”  

“หากกรรมการกสทช.ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย  การเจรจา ต่อรอง ด้านคลื่นความถี่ ดาวเทียม กฎหมายระบบเทคโนโลยี อาจเสียเปรียบเอกชน ขณะที่ด้านเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็น เพราะการนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติชาติต้องดูเรื่องคุ้มค่าการให้ประโยชน์กับประชาชน ผู้รับบริการ มากที่สุด"

     

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน  สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา  กล่าวว่า พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติไว้ 7 ด้าน ซึ่งร่างที่สภาฯ แก้ไขและตัดออก ทั้ง ด้านวิศวกรรม, ด้านเศรษฐศาสตร์, ด้านกฎหมาย นั้นล้วนมีเหตุผลและที่มาที่ไป “หากกรรมการกสทช." ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย  การเจรจา ต่อรอง ด้านคลื่นความถี่ ดาวเทียม กฎหมายระบบเทคโนโลยี อาจเสียเปรียบเอกชน

ขณะที่ด้านเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็น เพราะการนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติชาติต้องดูเรื่องคุ้มค่าการให้ประโยชน์กับประชาชน ผู้รับบริการ มากที่สุด" นอกจากนี้ยังกล่าวด้วยว่า ส่วนร่างที่แก้ไข และกำหนดว่า ให้เป็น ด้านอื่นๆ นั้น กังวลว่าจะเปิดช่องให้นอมินีพรรคการเมือง, นายทุนบริษัทโทรคมนาคมเข้ามา และเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง

พร้อมทั้งเสนอให้ พิจารณาแก้ไข  ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เพื่อความรอบคอบทั้งประเด็นคุณสมบัติ และประเด็นที่ว่าด้วยการให้สรรหา กสทช. ชุดใหม่ เมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้ เพื่อไม่ให้กฎหมายเดินหน้า และกระบวนการพิจารณาของกสทช. ไม่มีปัญหา

ดังนั้น หากสว.ผู้ทรงเกีรยติยอมให้ร่างพรบ.กสทช.ฉบับร่างของสส.ผ่านโดยมิได้มีการแปรญัตติ และพิจารณาทุกประเด็นที่ยังเป็นปัญหาเพียงเพื่อล้มกระบวนการสรรหา ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ย่อมถือว่าเป็นตราบาป และทำให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อกิจการกระจายเสียง กิจการการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและอาจขัดรัฐธรรมนูญที่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารสั่งนิติบัญญัติได้