รฟท.ชงพันล้านเพิ่มเวนคืน เร่ง“ซีพี”แจงย้ายสถานีไฮสปีด

รฟท.ชงพันล้านเพิ่มเวนคืน เร่ง“ซีพี”แจงย้ายสถานีไฮสปีด

ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ลงนามร่วมลงทุนไปแล้ว 3 โครงการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) เพิ่มเติมในส่วนของงบเวนคืนที่ดินจากเดิมได้รับการอนุมัติมาแล้วราว 3.5 พันล้านบาท จะเสนอขอเพิ่มอีกกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อให้การจ่ายชดเชยอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อการเวนคืนที่ดิน หรือเป็นปัญหาติดขัดตามมา

ทั้งนี้ งบเวนคืนที่ดิน ร.ฟ.ท.ได้รับอนุมัติมาก่อนหน้านี้ ได้นำไปใช้กับการเวนคืนที่ดินในเมืองแล้ว 400 ล้านบาท เหลือ 3,100 ล้านบาท ซึ่งแผนดำเนินงานในขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทำสัญญาร่วมกับเจ้าของที่ดิน เพื่อเวนคืนที่ดินและเริ่มกระบวนการทยอยจ่ายเงินชดเชยเวนคืนที่ดินในเดือน ม.ค.นี้ ส่วนงบเวนคืนที่ดินที่อยู่ระหว่างขออนุมัติเพิ่มเติมนั้น ร.ฟ.ท.จะกันไว้เพื่อจ่ายเวนคืนที่ดินส่วนสุดท้าย คือ 3 สถานี ที่ทางเอกชนมีแผนจะปรับพื้นที่ และยังไม่ได้ข้อสรุป

“ตอนนี้เราก็เริ่มดำเนินการเวนคืนที่ดินอย่างต่อเนื่อง ตามแผนจะจ่ายเงินชดเชยในเดือนนี้ ส่วนเงินที่เราขอมาเพิ่มก็ประจวบเหมาะกับที่เอกชนยังไม่ได้แจ้งข้อสรุปว่าจะปรับสถานีหรือไม่ ดังนั้นเงินส่วนที่รอขออนุมัติเพิ่มนี้ก็จะเตรียมไว้เพื่อเวนคืนส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้าย ถือว่ายังพอมีเวลาที่จะรอความชัดเจนก่อน ภาพรวมการเวนคืนที่ดินตอนนี้จึงไม่สะดุดหรือติดปัญหาอะไร”

นอกจากนี้ เพื่อไม่ให้แผนการส่งมอบพื้นที่เป็นปัญหาในภายหลัง ร.ฟ.ท.อยากให้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด เร่งสรุปแผนย้ายสถานีที่เคยแจ้งไว้ ว่าจะมีพื้นที่ย้ายไปบริเวณใด จะเกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน หรือชุมชนโดยรอบ และนำมาหารือประกอบการตัดสินใจ เพราะหากเอกชนไม่เร่งดำเนินการ ร.ฟ.ท.ก็ต้องยืนยันที่จะเวนคืนที่ดินตามสัญญาข้อเสนอโครงการ (RFP) กำหนดไว้ หลังจากนั้นหากเอกชนจะปรับแนวสถานี ก็สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องนำพื้นที่ที่ ร.ฟ.ท.ทำการเวนคืนไปพัฒนาให้เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟด้วย

“หากยังไม่ได้รับความชัดเจนจากทางเอกชน การรถไฟฯ ก็มีความจำเป็นต้องเวนคืนตามแผน โดยหากเวนคืนที่ดินไปแล้ว ท้ายที่สุดเอกชนจะมาปรับสถานี ก็ต้องนำพื้นที่นี้ไปด้วย นำไปพัฒนาตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน ถ้าไม่ทำสถานีก็ต้องทำอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่าวัตถุประสงค์เวนคืนเพื่อทำโครงการอะไร ถ้าไม่ทำก็ผิดกฎหมาย อาจถูกฟ้อง และหากเป็นเช่นนั้นเอกชนก็ต้องรับผิดชอบ”แหล่งข่าว กล่าว

160992494919

ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการเวนคืนที่ดิน หรือผู้บุกรุกที่ถูกขอคืนพื้นที่ จากโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน โดย ร.ฟ.ท.ได้หารือกับ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) จัดสรรพื้นที่ให้ กคช.ในราคาถูก บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากถนนวิภาวดี 3.8 กิโลเมตร จำนวน 5 ไร่ 3 งาน 91 เพื่อพัฒนาเป็นอาคารที่พักอาศัยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้เช่าราคาถูกเป็นอีกทางเลือก

โดยจะก่อสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร รวมจำนวนทั้งสิ้น 360 ห้อง แบ่งออกเป็น อาคารเอ จำนวน 177 ห้อง และอาคารบี 183 ห้อง พื้นที่ห้องมีขนาด 33 ตารางเมตร ประกอบด้วย 1ห้องอเนกประสงค์ 1 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว และระเบียง เบื้องต้นการเคหะฯ อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้างเพื่อจัดทำรายละเอียดวงเงินลงทุน โดยการเคหะฯ จะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด และทำหน้าที่บริหารจัดการ

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยต้องได้ข้อสรุปก่อนเดือน มี.ค.2564 เนื่องจากตามแผน ร.ฟ.ท.ต้องเร่งเคลียร์พื้นที่การรุกล้ำและส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนไปพัฒนาไฮสปีดเทรนภายในปีนี้ เบื้องต้นทราบว่า กคช.ได้ลงสำรวจพื้นที่บางส่วนไปแล้วเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา และมีแผนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อเปิดประมูลช่วง ต.ค.-ธ.ค.2564 รวมทั้งจะเริ่มงานก่อสร้าง เม.ย.ปีหน้า และสามารถเปิดให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยในเดือน ต.ค.2565

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว จากการประเมินพบว่ามีจำนวนราว 300 ครัวเรือน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เข้ามาอาศัยในเขตทางรถไฟ ซึ่งทางเลือกของการขอคืนพื้นที่ก่อสร้างไฮสปีดเทรนนั้น ร.ฟ.ท.กำหนดไว้ว่าจะเจรจาจ่ายเงินชดเชยให้ แต่หากไม่รับเงินชดเชยก็มีทางเลือกเป็นที่อยู่อาศัยในราคาไม่แพง เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก

สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ในขั้นตอนของการเตรียมส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ไปดำเนินการก่อสร้างตามสัญญาร่วมลงทุนที่ได้กำหนดไว้ โดยในเบื้องต้น ร.ฟ.ท.ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก คือ ช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญากำหนด ภายในเดือน ต.ค.2564

สำหรับแผนดำเนินงานส่งมอบพื้นที่ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1.การแก้ปัญหาผู้บุกรุก ได้ดำเนินการเจรจากับผู้บุกรุกในพื้นที่ระหว่างช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภาและมีการย้ายออกแล้ว 

2.การเวนคืนที่ดิน ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้จัดทำรายละเอียดการเวนคืนที่ดินแล้วเสร็จ และแจ้งให้ผู้ถูกเวนคืนรับทราบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 679 หลังคาเรือน 923 ไร่ เตรียมจ่ายชดเชยผู้ถูกเวนคืนในเดือน ม.ค.นี้ 

3.การรื้อย้ายสาธารณูปโภค จำนวน 756 จุด จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.2564