'ญี่ปุ่น' นำทีม! ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ติดท็อป 'พาสปอร์ต' ทรงอิทธิพลของโลก

'ญี่ปุ่น' นำทีม! ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ติดท็อป 'พาสปอร์ต' ทรงอิทธิพลของโลก

“Henley Passport Index 2564” จัดอันดับ “พาสปอร์ต” ทรงอิทธิพล ผลประเทศเอเชียแปซิฟิกครองแชมป์ หลังส่งสัญญาณฟื้นจาก “โควิด” เป็นภูมิภาคแรก

Henley Passport Index ต้นแบบการจัดอันดับ “พาสปอร์ต” ทั่วโลกตามจำนวนจุดหมายปลายทางที่ผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศหนึ่งๆ เดินทางเข้าได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าก่อน เปิดเผยผลการจัดทำดัชนีล่าสุด ผลปรากฏว่า “ญี่ปุ่น” ยังคงครองอันดับหนึ่ง โดยผู้ถือพาสปอร์ตญี่ปุ่นเดินทางเข้าประเทศและดินแดน 191 แห่งได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า นับเป็นปีที่สามแล้วที่ญี่ปุ่นครองอันดับหนึ่งในดัชนี ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอิงข้อมูลจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association หรือ IATA)

ที่สำคัญยังมีประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) ครองอันดับในดัชนีได้อย่างเหนียวแน่น อาทิ “สิงคโปร์” ตามมาในอันดับที่ 2 จากการที่ผู้ถือพาสปอร์ตสิงคโปร์เข้าประเทศและดินแดนต่างๆ ได้ 190 แห่ง “เกาหลีใต้” อยู่ในอันดับที่ 3 ร่วมกับ “เยอรมนี” โดยผู้ถือพาสปอร์ตของเกาหลีใต้และเยอรมนีเข้าประเทศและดินแดน 189 แห่งได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (visa-free) หรือขอรับการตรวจลงตราที่ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (visa-on-arrival) สำหรับประเทศที่อันดับขยับลงมาอีกเล็กน้อย แต่ยังคงอยู่ใน 10 อันดับแรก ได้แก่ “นิวซีแลนด์” ที่อันดับ 7 เข้าประเทศและดินแดน 185 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า และ “ออสเตรเลีย” อยู่ที่อันดับ 8 เข้าประเทศและดินแดนต่างๆ ได้ 184 แห่ง

  • เอเชียแปซิฟิก ม้ามืดตลอดกาล

ในประวัติศาสตร์ 16 ปีของการจัดทำดัชนีนั้น ปกติแล้วอันดับต้นๆ จะตกเป็นของประเทศในสหภาพยุโรป (EU) สหราชอาณาจักร หรือสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มเข้ามาครองดัชนีและจะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป เนื่องจากหลายประเทศในภูมิภาคจะเริ่มฟื้นตัวจากโรคระบาดเป็นประเทศแรกๆ

Dr. Christian H. Kaelin ประธานของ Henley & Partners และผู้คิดค้นแนวคิดในการจัดทำดัชนีหนังสือเดินทาง เปิดเผยว่า ดุลอำนาจกำลังเปลี่ยนไป เหตุเพราะสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรยังคงเผชิญความท้าทายใหญ่หลวงอันเนื่องมาจากไวรัส “โควิด-19”

"ในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา หนังสือเดินทางสหรัฐหล่นลงจากอันดับหนึ่งจนกระทั่งมาอยู่ที่อันดับ 7 ร่วมกับสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน เนื่องด้วยการควบคุมการเดินทางเพื่อสกัดการแพร่ระบาด นักเดินทางจากสองประเทศจึงต้องพบเจอกับข้อจำกัดต่างๆ จากกว่า 105 ประเทศ โดยผู้ถือหนังสือเดินทางสหรัฐอเมริกาสามารถเดินทางเข้าประเทศและดินแดนต่างๆ ได้น้อยกว่า 75 แห่ง ขณะที่ผู้ถือหนังสือเดินทางสหราชอาณาจักรเข้าประเทศและดินแดนต่างๆ ได้ไม่ถึง 70 แห่ง"

  • “วัคซีน” กับโลกหลังโควิดที่เปลี่ยนไป

จากการที่วัคซีน “โควิด-19 ตัวแรกได้รับการอนุมัติเมื่อหนึ่งเดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมสายการบินเชื่อว่า การบังคับให้ฉีดวัคซีนก่อนการเดินทางอาจกลายเป็นเรื่องจำเป็นในอีกไม่นานนี้ ซึ่ง IATA มีแผนริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนการฟื้นการเดินทางทั่วโลก โดยมีกำหนดเปิดตัว IATA Travel Pass ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ในรูปแบบของแอพพลิเคชันมือถือที่จะทำให้นักเดินทางจัดเก็บและจัดการเอกสารรับรองการตรวจหรือฉีดวัคซีน “โควิด-19 ของตนเองได้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงอนาคตของการเดินทางทั่วโลกว่า เราคาดหวังไม่ได้ว่ารูปแบบของการเดินทางจะกลับมาเหมือนกับในช่วงก่อนการระบาด Dr. Parag Khanna ผู้ก่อตั้ง FutureMap กล่าวว่า การพิจารณาแต่สัญชาติเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วที่จะรับประกันความปลอดภัยในการเดินทาง

"แม้แต่หนังสือเดินทางที่ยังทรงอิทธิพล ก็จะต้องมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเพื่อทำให้การเดินทางกลับมามีความคล่องตัวและยืดหยุ่นอีกครั้ง เยาวชนในปัจจุบันมีความรับผิดชอบต่อสังคม ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และชาตินิยมน้อยลง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้พวกเขากลายเป็นคนรุ่นที่เดินทางเคลื่อนที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ พวกเขาสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเดินทาง จากการที่ทุกประเทศทำเพื่อตัวเองไปเป็นทุกคนทำเพื่อตัวเอง"

ข้อมูลสำคัญเพิ่มเติมและการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญปรากฏอยู่ในรายงานการเดินทางทั่วโลกประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2564 (Global Mobility Report 2021 Q1) ซึ่ง Henley & Partners เผยแพร่ในวันนี้

รายงานดังกล่าวประกอบด้วยงานวิจัยใหม่จาก Deep Knowledge Group ซึ่งนำข้อมูลจากการประเมินความเสี่ยงของ “โควิด-19 (Covid-19 Risk and Safety Assessment) ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพใน 250 ประเทศและดินแดนมาซ้อนทับกับผลล่าสุดจาก Henley Passport Index ซึ่งพบว่าสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เสรีภาพในการเดินทางไม่ได้ขึ้นอยู่กับการขาดเสรีภาพทางสังคมหรือการพัฒนาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความล้มเหลวในการจัดการความเสี่ยง ความพร้อมด้านสุขภาพ และการติดตามและตรวจจับอีกด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การที่ไม่สามารถเดินทางได้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะพลเมืองของประเทศที่มีการพัฒนาน้อยกว่าอีกต่อไป

ในช่วงปี 2563 มีการทำข้อตกลงวีซ่าระดับสูงไม่มากนัก ที่โดดเด่นคือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งทำอันดับขึ้นอย่างต่อเนื่องในดัชนี Henley Passport Index สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงนามในข้อตกลงที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นคนกลาง เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับอิสราเอล และอนุญาตให้พลเมืองของแต่ละประเทศเข้าประเทศของอีกฝ่ายได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ปัจจุบัน ผู้ถือหนังสือเดินทางยูเออีเข้าประเทศและดินแดน 173 แห่งโดยไม่ต้องขอวีซ่า และอยู่ในอันดับที่ 16 ซึ่งเป็นการทำอันดับได้อย่างน่าทึ่งเมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่ยูเออีเข้ามาติดอันดับเป็นครั้งแรกในปี 2549 โดยในตอนนั้น ยูเออีอยู่ในอันดับที่ 62 เดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ โดยไม่ขอวีซ่าได้เพียง 35 แห่ง

Dr. Juerg Steffen ซีอีโอของ Henley & Partners กล่าวว่า ความผันผวนอันเนื่องมาจาก “โควิด-19ได้ผลักดันให้การลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐานกลายเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นอย่างมาก "หลายเหตุการณ์ในปี 2563 เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดปัจจัยผลักดัน (push factor) ต่างๆ ขึ้นพร้อมกัน เช่น ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันก็กลับมาให้ความสำคัญกับปัจจัยดึงดูด (pull factor) อีกครั้ง โดยความมีเสถียรภาพ ความปลอดภัย และการเข้าถึงการบริการสุขภาพและการศึกษาที่มีคุณภาพกลายเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปัจจุบัน การให้สัญชาติและสิทธิพำนักอาศัยกลายเป็นหนึ่งในมาตรฐานการพิจารณาสำหรับครอบครัวและผู้ประกอบการนานาชาติที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวน และสร้างมูลค่าระยะยาวผ่านทางการเดินทางทั่วโลกที่ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น"