“ปฏิรูปประเทศ” ไม่ขยับ “สิงห์ศึก” สะท้อนผ่านงานติดตาม

“ปฏิรูปประเทศ” ไม่ขยับ  “สิงห์ศึก” สะท้อนผ่านงานติดตาม

 “แผนปฏิรูปประเทศ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรก เกือบ 2 สองหมื่นรายการ ชื่อจะบอกว่าคือเรื่องปฏิรูป แต่เนื้อในแล้วไม่ใช่"

       การปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถือเป็นหนึ่งงานที่ รัฐบาลต้องขับเคลื่อนต่อ ในระยะเปลี่ยนผ่านจาก รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

       ในรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ ถึงขั้นกำหนดองค์กรไว้ติดตามและตรวจสอบ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 กำหนดบทบาทของวุฒิสภา มีอำนาจติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยกำหนดให้ “รัฐบาล” รายงานต่อรัฐสภาทุก ๆ 3 เดือน ไปจนถึงปี 2565 หรือครบวาระของ “วุฒิสภา” ชุดปัจจุบัน

       สิ้นปี 2563 นี้ เป็นการทำงานครบ 18 เดือน ของรัฐบาล และใกล้เคียงกับการทำหน้าที่ของ “วุฒิสภา”

       เมื่อตรวจการบ้านเรื่องนี้ ผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ วุฒิสภา ที่มี “พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร" รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง เป็นประธาน จะพบว่ารอบปีเศษที่ผ่านมา หรือ 4 ครั้งที่รับรายงานการปฏิรูปพบว่า

       งานปฏิรูปประเทศ และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติยังมีสิ่งต้องแก้ไข และปรับปรุงโดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานที่ยังขาดความร่วมมือระหว่าง “ประชาชน-ภาครัฐ-เอกชน” จนเป็นเหตุให้กิจกรรมที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

       “แผนปฏิรูปประเทศ และการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกนั้นมีโครงการจำนวนมาก เกือบสองหมื่นรายการ และส่วนใหญ่ยังเป็นงานปกติของราชการที่ทำประจำ แม้ชื่อจะบอกว่าคือเรื่องปฏิรูปแต่เนื้อในแล้วไม่ใช่ ส่วนเป้าหมายกับตัวชี้วัดยังเป็นเพียงการได้ทำ ไม่ใช่วัดความสำเร็จที่ประชาชนที่ว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร ขณะเดียวกันเมื่อทำโครงการจากรัฐไม่ตรงใจประชาชน จะขาดความร่วมมือ เช่นเดียวกับภาคเอกชน นอกจากนั้นยังพบว่าโครงการปฏิรูปประเทศไร้งบประมาณเพื่อการปฏิรูป” พล.อ.สิงห์ศึก ฉายภาพ

160989732595

       ส่วนการติดตามของวุฒิสภาที่ผ่านมา เน้นการติดตามด้วยการลงพื้นที่รายจังหวัด โดยตั้งเป้าผลชี้วัดคือผลลัพท์ที่สร้างประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่แค่ “ได้ทำ” เท่านั้น

       แต่ที่ผ่านมาหลายโครงการปฏิรูปมีลักษณะแค่ “ได้ทำ" ไม่ใช่ “ทำได้” ตามผลลัพธ์ที่ต้องการ

       แต่การติดตามที่ผ่านมา วุฒิสภายังไม่เคยลงดาบ หรือให้คุณให้โทษกับหน่วยงานหรือบุคคลฝ่ายใด

       เหตุผลที่ พล.อ.สิงห์ศึก ให้ไว้คือ “ครม.เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ส.ว. เพิ่งตั้งรูปแบบการติดตามเมื่อต้นปี 2563 เมื่อจะดำเนินการพบปัญหาเรื่องโควิด ขณะเดียวกันระบบงบประมาณมีปัญหาขับเคลื่อนไม่เป็นตามคาดหมาย ตอนนี้หวังว่าจะลงพื้นที่ตามงาน ตั้งแต่กระทรวงและหน่วยงานในพื้นที่ ตอนนี้มีระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ต้องระวังแต่ ส.ว.ต้องตามผลงาน เช่น การเบิกจ่ายงบประมาณสอดคล้องกับผลงานหรือไม่"

       สำหรับสิ่งที่วุฒิสภาติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะนั้น กลายเป็นภาพสะท้อนที่คณะรัฐมนตรีนำไปสู่การปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติในภาวะโควิด-19 ใน 64 กิจกรรม 13 ด้าน ที่เตรียมใช้ในปี 2565 หลังจากที่รัฐสภาพิจารณาเนื้อหาแล้วช่วงปลายเดือนมกราคม 2565

       เมื่อสำรวจเนื้อหาเบื้องต้น พล.อ.สิงห์ศึก บอกว่านอกจากกิจกรรมในเชิงพื้นที่แล้ว ยังมีการตรากฎหมายเพื่อรองรับงานปฏิรูป อีก 45 ฉบับ พร้อมให้ความเห็นด้วยว่า

       “บ้านเรามีกฎหมายเยอะ แต่ปฏิบัติไม่ได้ บังคับใช้ไม่ได้ เพราะคนที่ออกอนุบัญญัติ คือ ข้าราชการ คือ กระทรวงต่างๆ อะไรที่เปลืองตัว ไม่เขียน ไม่ออก อะไรที่ตัวเองได้ประโยชน์จะออก เช่น บังคับให้เขาทำให้ออกสะดวก แต่กฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้บริการประชาชนกลับไม่ออก ที่กำหนดให้มีกฎหมายอีก 45 ฉบับ ต้องถามว่าประชาชนต้องการหรือไม่ ที่ผ่านมา เช่น พ.ร.บ.การศึกษาชาติมีปัญหา การปฏิรูปประเทศ ด้านนี้องค์กรที่มีหน้าที่ปรับปรุงไม่มีความสุขที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะมองว่าลดอำนาจตัวเอง"

       กมธ.ติดตามงานปฏิรูปฯ มองด้วยว่า อาจเป็นเพียงกิจกรรมที่ “ได้ทำ” เช่น การให้รู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

       เมื่อถามถึงผลลัพธ์ที่ควรทำได้นั้น พล.อ.สิงห์ศึก ส่ายหน้าแทนคำตอบ

       เช่นเดียวกับกิจกรรมการส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมืองจะชี้วัดแค่สมาชิกพรรคเพิ่มขึ้น สาขาเพิ่มขึ้น หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดเพิ่มขึ้นเท่านั้นไม่ได้ การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อเป็นคนกลางแก้ปัญหาการเมือง ตั้งข้อสงสัยว่า จะใช่คณะกรรมการสมานฉันท์ที่รัฐสภาตั้ง โดยไร้ฝ่ายค้านเข้าร่วมหรือไม่?

160989748260

       ขณะที่กิจกรรมปรับปรุงโครงสร้าง และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ที่ระบุให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีหลักการสำคัญ 6 ข้อ คือ "การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ่วงดุลอำนาจ แบ่งแยกอำนาจ ความรับผิดชอบ จำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งทางการเมือง และการป้องกันรัฐประหาร" นั้น พล.อ.สิงห์ศึก ให้มุมมองว่า แง่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ คือแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเขียนเนื้อหาที่ยึดโยงกับมาตรา 255 ที่เป็นข้อกำหนดห้ามแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ แต่ยังกลับถูกตั้งคำถาม และการได้รับการยอมรับ ดังนั้น 6 ประเด็นที่กำหนดไว้ในการปฏิรูป แต่อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ใช้ไม่ได้

       อย่างไรก็ดี จากงานติดตาม เร่งรัดและเสนอแนะต่องานปฏิรูปที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญอีกข้อ ที่ทำให้งานขับเคลื่อนได้น้อย พล.อ.สิงห์ศึก บอกว่า คือ “แผนปฏิรูปประเทศไร้งบประมาณเพื่อการปฏิรูปประเทศ ซึ่งที่ผ่านมางบปฏิรูปประเทศ นำเงินกู้ตามกฎหมายดำเนินการ และเมื่อ ส.ว.เสนอแนะต่อเรื่องนี้ ครม.สั่งการไว้ว่า ในการจัดทำงบประมาณปี 2565 จะมีงบปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ”

       แต่สิ่งสำคัญที่ พล.อ.สิงห์ศึก ทิ้งท้ายไว้ต่อความสำเร็จในงานปฏิรูป คือ “ต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชน หรือประสงค์จะร่วมมือหรือไม่ และปลายทางสุดท้ายสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ หากคิดเป็นระบบได้ ก็โอเค ไม่ใช่คิดแบบ Top-Down แต่การใช้ราชการขับเคลื่อนยังมีความจำเป็น”.