ฟ็อกซ์คอนน์ร่วมทุนสตาร์ทอัพรถ'อีวี'จีน

ฟ็อกซ์คอนน์ร่วมทุนสตาร์ทอัพรถ'อีวี'จีน

ฟ็อกซ์คอนน์ แตกไลน์ธุรกิจ จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทสตาร์ทอัพจีน“ไบตัน”หวังชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีนแม้ยอดขายยังเป็นรองเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน

ภายใต้ข้อตกลงเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพอีวีจีนครั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ต้องจัดหาด้านบริหารจัดการเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานและสนับสนุนด้านการดำเนินงานแก่ไบตันจนกว่าไบตันจะฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่หลังจากที่บริษัทไบตันยุติสายการผลิตไปเมื่อเดือนก.ค.เพราะปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งการทำข้อตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกันครั้งนี้ ตอกย้ำความปรารถนาของฟ็อกซ์คอนน์ที่ต้องการแตกไลน์ธุรกิจนอกเหนือจากตลาดสมาร์ทโฟน

เมื่อเดือนม.ค.ปีที่แล้ว ฟ็อกซ์คอนน์ ประกาศแผนร่วมทุนกับเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ เพื่อผลิตรถไฟฟ้าในจีนและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าชาวจีน แต่ข้อตกลงร่วมทุนนี้ถูกเลื่อนออกไป จนกระทั่งเฟียตประกาศแผนควบรวมกิจการกับบริษัทคู่แข่งอย่างเปอร์โยต์ ค่ายรถยนต์สัญชาติฝรั่งเศส และเมื่อปีที่แล้วเ่ช่นกัน ฟ็อกซ์คอนน์ ได้ตั้งหน่วยงานร่วมทุนด้านอีวีกับค่ายรถยนต์สัญชาติไต้หวัน ยูหลุน มอเตอร์ ที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 70 ปี เพื่อผลิตรถในตลาดไต้หวันและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเองที่มีชื่อว่า ลักซ์เจน

ฟ็อกซ์คอนน์ อธิบายการเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ว่าเป็นกรอบงานความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัท ไบตันและเขตพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจนานจิง ซึ่งรัฐบาลนานจิงเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนระดับแถวหน้าของไบตัน ขณะเดียวกัน การทำข้อตกลงนี้ ถือว่าช่วยให้ไบตันหายใจทั่วท้องได้มาก เนื่องจากไบตันตัดสินใจระงับการผลิตตั้งแต่เดือนก.ค.หลังจากไม่สามารถหาเงินทุนจากแหล่งใหม่ๆได้ จนทำให้ต้องพักงานพนักงานทั้งหมด

ไบตัน ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2560 โดยอดีตผู้บริหารบีเอ็มดับเบิลยูสองคน เคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน“4มังกร”สตาร์ทอัพอีวีที่มีอนาคตสดใสที่สุดในจีน เทียบเท่าบริษัทเอ็กซ์เป็ง มอเตอร์ นิโอ และหลี่ ออโต้ โดยบริษัทระดมทุนได้ 1.2 พันล้านดอลลาร์์จากนักลงทุนกลุ่มต่างๆ รวมถึง เทนเซนต์ โฮลดิงส์ และเอฟเอดับเบิลยู กรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ของรัฐบาลจีนที่เก่าแก่ที่สุด

นอกจากนี้ บริษัทยังวางแผนผลิตรถยนต์รุ่นแรกสำหรับตลาดทั่วไป เป็นรถเอสยูวีรุ่น เอ็ม-ไบท์ ผลิตที่โรงงานขนาด 8 แสนตารางเมตรในเมืองนานจิง เมื่อปีที่แล้วแต่ขณะนี้ยังไม่แน่นอนว่าแผนการนี้จะเดินหน้าเมื่อใด โดยบริษัทมีสำนักงานในฮ่องกง เยอรมนี สหรัฐและในแคลิฟอร์เนีย

ไบตัน โทษว่าเป็นเพราะการระบาดของโรคโควิด-19ที่ทำให้บริษัทเกิดปัญหาทางการเงินและในเดือนก.ค.จนทำให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นาน6เดือนเพื่อพลิกฟื้นกำไรให้กลับคืนมา และส่วนหนึ่งของแผนการนี้ เอฟเอดับเบิลยู และนานจิงได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาแห่งหนึ่งในเดือนก.ย. โดยใช้ทุนจดทะเบียน 1.5 พันล้านหยวนเพื่อระดมทุนเพิ่มและนำทุนนี้มาใช้ในการผลิตรถเอ็ม-ไบท์

ฟ็อกซ์คอนน์ มั่นใจว่าด้วยการสนับสนุนของบริษัท ไบตันจะสามารถเร่งแผนผลิตรถปริมาณมากสำหรับตลาดทั่วไปรุ่นเอ็ม-ไบท์ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 และสำหรับฟ็อกซ์คอนน์แล้ว ถือว่าการทำข้อตกลงนี้กับสตาร์ทอัพจีนเป็นการเพิ่มความหลากหลายแก่ธุรกิจ และยัง หลิว ประธานบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทนที่เทอรี กั๊วะ ผู้ก่อตั้งบริษัทในเดือนมิ.ย.ปี2562 ระบุว่ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากไฟฟ้าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจแก่บริษัทได้ โดยเติบโตไปพร้อมๆกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เซอร์เวอร์ ชิ้นส่วนสำคัญ หุ่นยนต์ การเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี5จี และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ)

หลิว ยังบอกด้วยว่า ฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเคยเทรดในตลาดหุ้นในชื่อ “ฮอนไห่ พรีซิชั่น อินดัสตรี” ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของโลกให้ได้10% ภายในปี2568ในช่วงที่บริษัทกำลังหารายได้จากทางอื่นเข้ามาชดเชยรายได้ที่หานไปในตลาดสมาร์ทโฟน

ที่ผ่านมา ฟ็อกซ์คอนน์ ประกาศย้ายฐานการผลิตไอแพด และแม็คบุ๊คบางส่วนจากจีนไปยังเวียดนาม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐแลจีน แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะลงจากตำแหน่งแล้วก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ฟ็อกซ์คอนน์ได้สร้างโรงงานประกอบแท็บเล็ตและโน้ตบุ๊กให้กับแอ๊ปเปิ้ล ในจังหวัดบั๊กซางทางตอนเหนือของเวียดนาม โดยจะเปิดทำการในครึ่งแรกของปี 2564