หมดเวลา 'พักหนี้' เปิด 4 เทคนิค 'จัดการเงินและหนี้' ฝ่า 'โควิด-19' ด้วยตัวเอง

หมดเวลา 'พักหนี้' เปิด 4 เทคนิค 'จัดการเงินและหนี้' ฝ่า 'โควิด-19' ด้วยตัวเอง

เปิดเทคนิคการ "จัดการเงิน" ส่วนบุคคลจากผู้เชี่ยวชาญ ที่ช่วยให้สามารถประคับประคองเงินในกระเป๋าให้ผ่านพ้นวิกฤติ "โควิด-19" ที่มากับการ "ระบาดรอบใหม่" ไปได้ หรือไม่วิกฤติไปกว่าเดิม

"โควิด-19" ระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย ท่ามกลางแผลทางการเงินจากการระบาดรอบแรกที่ยังไม่หายดี สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้ระบาดของโรค คือปัญหาเศรษฐกิจที่กลับมากระทบเงินในกระเป๋าของทุกคนอีกครั้ง และที่น่ากังวลที่สุดคือผลกระทบครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มาตรการช่วยเหลือที่เป็นยาแรงอย่าง "เราไม่ทิ้งกัน" หรือ "การพักหนี้" ได้หมดลงแล้ว

แม้จะมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะต้องหาทางช่วยเหลือประชาชน และธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้อยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราควรชะล่าใจ เพราะวิกฤติครั้งนี้อาจกระทบยาวกว่าที่คิด และมีโอกาสรุนแรงกว่าเดิมได้ทุกเมื่อ ตราบใดที่การระบาดยังไม่สิ้นสุดลง 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงชวนไปคุยกับ "หนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธุ์" หรือ "THE MONEY COACH (เดอะ มันนี่โค้ช)" เกี่ยวกับเทคนิคในการ "จัดการเงินในสภาวะวิกฤติสำหรับบุคคลทั่วไป" ที่จะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถจัดการเงินในกระเป๋าในช่วงวิกฤติแบบนี้ได้ดีขึ้น และผ่านพ้นวิฤติครั้งนี้ไปให้ได้ แบบบาดเจ็บน้อยที่สุด

 4 เทคนิคในการบริหารเงินฝ่า "วิกฤติโควิด-19" 

เทคนิคที่ 1 : วางแผนการเงินล่วงหน้าอย่างละเอียด อย่างน้อย 6 เดือน  

"ต่อให้จะติดลบ เราก็ควรที่จะรู้ว่าเราจะติดลบเท่าไหร่ แล้วเราจะจัดการยังไงได้บ้าง"  

การวางแผนการเงินให้ตัวเองล่วงหน้าไปอีก 6 เดือน เป็นวิธีที่ช่วยให้เห็นการเงินที่จะเกิดขึ้นปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้ชัดเจนที่สุด เพื่อให้เห็นว่าข้างหน้าจะเกิดอะไร แล้วมาจัดสรรในปัจจุบัน 

เมื่อเรารู้สถานะว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยคิดเหตุการณ์ที่แย่ที่สุดไว้ก่อน ผ่านวิธีการลิสต์รายการรายรับรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่มั่ว ไม่ประมาณ

"อย่าคิดเรื่องเงินในหัว หมายความว่าเราจะต้องมาลงกระดาษ หรือลงโปรแกรม Excel ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร หลายคนอาจจะบอกว่าตอนนี้กำลังเหนื่อย กำลังแย่ จะให้มาคิดแบบนี้ ไม่ต้องคิดหรอก ยังไงมันติดลบอยู่แล้ว เป็นความคิดที่ผิด เพราะต่อให้จะติดลบ เราก็ควรที่จะรู้ว่าเราจะติดลบเท่าไหร่ แล้วเราจะจัดการยังไงได้บ้าง" เดอะ มันนี่โค้ช กล่าว

 เทคนิคที่ 2 : รีบจัดการรายจ่าย และหนี้สินซะ! 

เมื่อเราเห็นสถานะทางการเงินตัวเองอย่างชัดเจน ณ เวลาปัจจุบัน และอีก 6 เดือนข้างหน้าแล้ว จะต้องจัดการรายรับรายจ่ายเหล่านี้ให้สอดคล้องกันมากที่สุด

สำหรับผู้ที่มีหนี้สิน เดอะมันนี่โค้ช แนะนำว่า "ถ้าอาการหนัก คุยแบบขอหยุดพักชำระ ที่ไม่ใช่มาตรการขั้นต่ำ เราสามารถเจรจาขอเป็นสิทธิพิเศษได้ เพราะฉะนั้น ควรเจรจาอย่างจริงจัง สื่อสารตรงๆ ว่าจ่ายไม่ได้ เพราะจะได้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากกว่า"

พร้อมแนะนำวิธีการเจรจาหนี้ กับเจ้าหนี้ (ในระบบ) ตามขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

160977550431

เทคนิคที่ 3 : เพิ่มโอกาสรอดด้วยการ "หารายได้เพิ่ม" 

"รายรับ - ค่าใช้จ่าย = เงินคงเหลือ" 

หลังจากวางแผนการเงินล่วงหน้าอย่างละเอียด แล้วพบว่ามองไปข้างหน้า 6 เดือน แล้ว "ไม่มีเงินคงเหลือ" แปลว่า "รายได้ไม่พอ"

เดอะ มันนี่ โค้ช แนะนำว่า สำหรับคนที่ได้รับผลกระทบ ลดเงินเดือน ออกจากงาน ฯลฯ ย่อมมีรายได้ลดลงจากปกติ ในขณะที่รายจ่ายยังคงอยู่จะต้องพยายามสร้างรายได้เพิ่ม

"แม้ว่าการหารายได้เพิ่มจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่หากมองในมุมเดียวว่าเราเป็นคนโชคร้ายในวิกฤติครั้งนี้ หรือดราม่ากับชีวิตมากไป ปัญหาจะไม่ถูกแก้"

นอกจากนี้ยังแนะนำว่า คนที่เล่นโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว อาจลองใช้โซเชียลมีเดียประกาศหางาน หรือโชว์ทักษะบางอย่างเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง แทนที่จะตัดพ้อสิ่งที่เกิดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'หารายได้เสริม' ออนไลน์ ผ่าน 'มือถือ' อยู่ที่ไหนก็ทำได้

ยิ่งไปกว่านั้น ลองเหลือบมองทักษะตัวเอง เราอาจจะเคยใช้ทักษะหนึ่งมาตลอดแล้วตกงาน ใช่ว่าเราจะได้แค่นั้น เราเคยฝึกอะไรมา มีงานอดิเรก เคยลองทำสมัยเรียน หรือมีเครือข่ายธุรกิจจากคนรู้จักที่สามารถเพิ่มรายได้ในตอนนี้ ที่สามารถใช้ต้นทุนในการเริ่มต้นต่ำได้

"พอเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ อย่าคาดหวังถึงผลลัพธ์ว่ามันจะได้เงินกลับมาครอบคลุมเท่าเดิม ทุกอย่างต้องใช้เวลา ถ้าเราไม่มองแต่เงิน เวลามันจะผ่านเยอะ และไม่ได้เริ่มต้นอะไรเลย ในทางตรงกันข้าม แม้มันจะเหนื่อยหน่อยแต่ได้เริ่มต้น มันก็จะค่อยๆ ช่วยทดแทนไปได้"

 เทคนิคที่ 4 : ควบคุมการเงิน ในระยะยาว  

"สำหรับใครที่ไม่ได้เดือดร้อนมากจากสถานการณ์นี้ อยากให้มองเรื่องของการรักษาหน้าที่การงาน รวมไปถึงการสร้างภาระระยะยาว"

สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินโดยตรงในช่วงนี้ ก็ยังไม่ควรประมาท ก่อนจะสร้างภาระหนี้ใหญ่ หนี้ที่ต้องมีภาระในระยะยาวจะต้องทบทวนอย่างถี่ถ้วนว่า "แหล่งรายได้" ของเรามั่นคงจริงหรือไม่ และสามารถผ่อนชำระไปตลอดรอดฝั่งได้ไหมหากมีวิกฤติครั้งใหม่เข้ามากระทบ 

ในทางเดียวกับ คนที่การเงินยังดียังมีการงานที่มั่นคงเอง ก็ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นได้เสมอ เนื่องจากเรากำลังเข้าสู่โลกที่มีแหล่งรายได้เดียวไม่เพียงพออีกต่อไป

ความแน่นอนทางการเงินในโลกยุคใหม่คือความไม่แน่นอน เราต้องอยู่และบริหารความไม่แน่นอนให้ได้ 

"รายได้ทางที่ 2 และ 3 ไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางรอด อาจจะมีรายได้หลักสักทาง และมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งที่พัฒนาขึ้นไป วันหนึ่งอาจจะพัฒนาขั้นมาทดแทนรายรับที่เป็นรายได้หลักของคุณ หรือทำควบคู่กันไปเพื่อ เสริมความมั่งคั่งให้ไปได้เร็วขึ้น และป้องกันความเสี่ยงให้กับชีวิตตัวเอง เพราะยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่เราจะอยู่ด้วยรายได้ทางเดียวอีกต่อไปแล้ว"