'7 วันอันตราย' ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 วันที่หก อุบัติเหตุสะสม 3,072 ครั้ง เสียชีวิต 358 ราย ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด

'7 วันอันตราย' ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 วันที่หก อุบัติเหตุสะสม 3,072 ครั้ง เสียชีวิต 358 ราย ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด

"7 วันอันตราย" ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 วันที่หก อุบัติเหตุสะสม 3,072 ครั้ง เสียชีวิต 358 ราย ขับรถเร็วแชมป์อุบัติเหตุสูงสุด ศปถ.ประสานจังหวัดบังคับใช้กฎหมายจราจรเข้มข้น ลดพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ วิเคราะห์และถอดบทเรียนอุบัติเหตุทางถนน

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 64 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 ม.ค. 64 เกิดอุบัติเหตุ 325 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 333 คน สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 63 – 3 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,072 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 358 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,073 คน ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เน้นกวดขันการขับรถเร็ว การเมาแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัย และการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน พร้อมถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชน

ในภาพอาจจะมี ข้อความพูดว่า

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 ม.ค. 64 ซึ่งเป็นวันที่หกของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 325 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 40 ราย ผู้บาดเจ็บ 333 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.69 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.31 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.08 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 68.00 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.92 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.31 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 26.77 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 33.24 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,948 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,878 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 577,602 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 127,568 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 35,357 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,084 ราย 

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (14 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงใหม่ (จังหวัดละ 14 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.63 – 3 ม.ค. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,072 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 358 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,073 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 9 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (111 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา (จังหวัดละ 16 ราย) จังหวัด ที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (113 คน)

ในภาพอาจจะมี ข้อความพูดว่า

นายอรรษิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนทั้งจำนวนครั้ง จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและเมาสุรา สำหรับในวันนี้คาดว่าประชาชนบางส่วนยังอยู่ระหว่างการเดินทาง ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เน้นกวดขันการขับรถเร็ว การเมาแล้วขับ การใช้อุปกรณ์นิรภัย และการเรียกตรวจประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุในเส้นทางหลักเข้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยตั้งกรวยริมไหล่ทาง
ปิดจุดกลับรถ เปิดสัญญาณไฟเตือนบนเส้นทางเป็นระยะ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนได้ประสานจังหวัดเตรียมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2564 โดยเร่งตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 63 – 4 ม.ค. 64 เพื่อวิเคราะห์สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการและกลยุทธ์ในการสร้างความปลอดภัยทางถนนทั้งในช่วงปกติและเทศกาลสำคัญให้สอดคล้องกับสถานการณ์และรูปแบบการเดินทางของประชาชนต่อไป