"อภิสิทธิ์" ประเมิน "แก้รัฐธรรมนูญ​" ไม่แน่นอนสูง ปลายปี64 อาจไม่ได้เห็น

"อภิสิทธิ์" ประเมิน "แก้รัฐธรรมนูญ​" ไม่แน่นอนสูง ปลายปี64 อาจไม่ได้เห็น

อดีตนายกรัฐมนตรี ประเมินการเมืองไทยปี 64 รัฐธรรมนูญมีความไม่แน่นอน แนะ "กรรมการสมานฉันท์" ต้องคุยนอกรอบดึงคู่ขัดแย้งร่วมวง

        นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์  ฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมาสเตอร์ เดอะคีย์  ไขการเมืองเรื่องใกล้ตัว ของสถาบันพระปกเกล้า ถึงทิศทางการเมืองปี 2564 ว่า ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจ การเมือง และระบบสาธารณสุข ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  ดังนั้นตั้งแต่ต้นปี 2564 รัฐบาลต้องบริหารจัดการกับการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งตนเชื่ว่าสถานการณ์คลี่คลายได้ ประมาณกลางปี หรือปลายปี 2564 หลังจากที่ประเทศไทยได้รับวัคซีนในช่วงเดือนมิถุนายน  ขณะที่ภาคเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ใช่ใช้เงินกระตุ้นเท่านั้น

      นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อประเด็นการเมืองด้วยว่า การเมืองในสภาเชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่สิ่งสำคัญคือ การเมืองภายนอก ที่ทำให้คนคิดเห็นแตกต่างกัน ไม่เฉพาะขั้วการเมือง แต่เป็นระหว่างรุ่น ที่รอการจัดการ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเชื่อว่ามีความไม่แน่นนอนสูง แม้ผ่านในขั้นตอนของรัฐสภา แต่เชื่อว่าจะมีคำถามโต้แย้ง  เช่น การออกแบบวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) การทำประชามติ หรือการส่งตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าปลายปีแม้การทำงานจะราบรื่น แต่จะยังไม่ได้เห็น
        “การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำให้เกิดความชัดเจน วางข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจว่าจะสร้างอนาคตร่วมกัน ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาที่ผ่านมาเหมือนกับไม่จริงใจ แต่ต้องทำเพราะมีแรงกดดัน อย่างไรก็ดีจุดยืนของผม คือการสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้คืนไปสู่หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ​ปี 2540 และ ปี 2550 แต่แก้ไขจุดอ่อน หรือช่องโหว่ ปีที่ผ่านมาผมสนับสนุนแก้ไขบทเฉพาะกาลหลายอย่าง เพื่อส่งสัญญาณให้ยุติการเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองของตนเอง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
       นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยคณะกรรมการซึ่งขาดคู่ขัดแย้ง หรือฝ่ายค้านของรัฐบาล เข้าร่วม ตนมองว่าโจทย์แรกของกรรมการ คือ หาวิธีดึงคนที่เหลือเข้ามาได้อย่างไร  ส่วนตัวมองว่าต้องพยายามประสานงานนอกรอบ 
        "ผมเชื่อว่าประเด็นที่ถูกถามหรือมีคำตอบ คือ จะพูดเรื่องอะไรได้บ้าง พูดแล้วจะส่งผลในทางปฏิบัติอย่างไร รวมถึงพูดถึงสถานการณ์เฉพาะหน้า การสะสางคดีความ ตั้งข้อหา ที่ทำให้บรรยายสมานฉันท์เป็นไปได้ยาก นอกจากนั้นต้องไม่ให้กรรมการเป็นกลไกยื้อเวลาให้กับรัฐบาล” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.