IT ม.สวนดุสิต เรียนรู้จากห้องเรียน สู่ห้องทำงาน

IT ม.สวนดุสิต  เรียนรู้จากห้องเรียน  สู่ห้องทำงาน

การศึกษาในปัจจุบันการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นอาจไม่เพียงพอแล้ว เนื่องด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญ จนทำบริบททางสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผศ.ดร.ปริศนา มัชฌิมา ประธานหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ                     คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึง การจัดการเรียนการสอนภายในหลักสูตร ว่า รศ.ดร.ศิโรจน์  ผลพันธิน อธิการบดี ได้มอบนโยบายการพัฒนาหลักสูตรต้องมีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของนักศึกษา และผู้ประกอบการ จำเป็นต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในสอนหรือพัฒนาหลักสูตร และบูรณาการองค์ความรู้กับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เพื่อนำประสบการณ์ตรงมาแลกเปลี่ยน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

ทางคณาจารย์หลักสูตรไอที  จึงนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นการสอดคล้องกับนโยบายมหาวิทยาลัยฯ และเป็นการเพิ่มทักษะของนักศึกษาด้านทักษะอาชีพ (Hard Skills) และ ทักษะทางด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skills) จึงเน้นให้นักศึกษาลงมือปฏิบัติจริง ก่อเกิดเป็นประสบการณ์ผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตามความถนัด ความสนใจของนักศึกษาแต่ละคน เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสมและประสบความสำเร็จในอนาคต

ผศ.ดร.ปริศนา  กล่าวต่อว่า  ทางหลักสูตรไอที ได้บูรณาการเรียนการสอนกับหน่วยงานต่าง                         ในมหาวิทยาลัย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนการเรือน และสำนักกิจการพิเศษเพื่อบูรณาการการเรียนการสอนทั้งหมด 3 รายวิชา อาทิ วิชาโครงงานเทคโนโลยีสารสนเทศ วิชาการจัดการฐานข้อมูล และวิชาปฏิบัติการการจัดการฐานข้อมูล โดย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ได้พัฒนานวัตกรรมให้กับโรงเรียนการเรือน ได้แก่ ระบบชำระเงินอัตโนมัติสำหรับศูนย์อาหาร ระบบการจัดการคลังสินค้าออนไลน์ระบบบริหารเว็บไซต์ สื่อดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อส่งเสริมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และชุดตรวจจับอุณหภูมิเพื่อคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคโควิดด้วยเทคโนโลยี IoT

สำหรับศูนย์อาหารดุสิตนฤมล ทำให้ศูนย์อาหารสามารถลดค่าใช้จ่ายในการเช่าระบบการชำระเงิน จัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น สามารถบริหารจัดการเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง และมีสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยส่งเสริมการขาย รวมทั้งสามารถคัดกรองโรคโควิดของผู้มาใช้บริการแบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี IoT

ส่วน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 พัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Access ให้กับสำนักกิจการพิเศษ เพื่อให้การบริหารงานของหน่วยงานเป็นระบบมากยิ่งขึ้น สะดวกในการจัดเก็บ แก้ไข ปรับปรุง และค้นหาข้อมูล โดยนักศึกษาได้ทำการพัฒนาระบบฐานข้อมูลจำนวน 4 ฐานข้อมูล ได้แก่ 1) ฐานข้อมูลบุคลากร 2) ฐานข้อมูลนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 3) ฐานข้อมูลสัญญา และ 4) ฐานข้อมูลครุภัณฑ์ ภารกิจข้างต้น ถือเป็นการพัฒนาทักษะนักศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพราะนักศึกษาได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง และที่สำคัญสามารถนำชิ้นงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในมหาวิทยาลัย ถือเป็นการนำเอาความรู้จากในห้องเรียนสู่การปฏิบัติจริง