ธปท.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

ธปท.ชี้ 3 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ

ธปท.แนะจับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง “โควิดระบาดในไทย  ทั่วโลก ตลาดแรงงานยังเปราะบาง”ฉุดเศรษฐกิจไทย  ด้านเดือนพ.ย. ค่าเงินบาททิศทางแข็งค่า เหตุ เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้น บอนด์

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ จากตัวเลขการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อที่มากขึ้น หากเทียบกับที่ประเมินไว้เมื่อ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ดังนั้นต้องติดตาม ว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากการระบาดมากขึ้นก็อาจกระทบกับเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ความเสี่ยงที่สอง คือ การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หลายประเทศกลับมาเข้มงวดมากขึ้นในด้านมาตรการ ดังนั้นต้องติดตามเพราะหากสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นก็อาจกระทบต่อคู่ค้าและส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าด้วย

ด้านความเสี่ยงที่สามคือ ความเสี่ยงของตลาดแรงงาน ที่เป็นตัวแปรสำคัญของเศรษฐกิจ แม้ตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่เห็นความเปราะบางบางจุดยังคงมีอยู่ และมีความไม่ทั่วถึงมากขึ้น โดยอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูง เช่นเดียวกับผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ยังไม่ได้ลดลง ดังนั้นต้องติดตามพัฒนาการอย่างต่อเนื่องว่าความเสี่ยงดังกล่าวเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือไม่

ทั้งนี้หากดูสัดส่วนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานต่อผู้ประกันตนพบว่าจำนวนว่างงานพ.ย.มาอยู่ที่ 7.8% หากเทียบกับก่อนหน้าที่ 8.1% และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 4.7% จากก่อนหน้าที่ 4.9% และหากดูผู้เสมือนว่างงานในพ.ย.ลดลงมาอยู่ที่ 2.2 ล้านคนจาก 2.5 ล้านคน จากแรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 20 ชั่วโมงในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ซึ่งพบว่าการว่างงานของนอกภาคเกษตรยังอยู่ระดับสูงจากช่วงโควิด-19  โดยสะท้อนการฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า

สำหรับเศรษฐกิจเดือนพ.ย.ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง หลายปัจจัยชี้ขยายตัวได้จากฐานต่ำปีก่อน เช่น การบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวจากมาตรการภาครัฐและวันหยุดพิเศษในช่วงพ.ย ขณะที่มูลค่าส่งออกหดตัวน้อยลง หากเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ -2.3% จากประเทศคู่ค้าที่ทยอยฟื้นตัว

สำหรับค่าเงินบาท พ.ย.พบว่า อยู่ในทิศทางแข็งค่าค่อนข้างมาก มาอยู่ที่อันดับต้นๆของประเทศในภูมิภาค จากการเม็ดเงินไหลเข้าในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว หลังเลือกตั้งชัดเจน และมีพัฒนาการด้านวัคซีน ซึ่งมีผลบวกกับไทย ขณะที่ ธ.ค. ค่าเงินบาทยังแข็งค่าแต่อ่อนตัวลงหลังดอลลาร์แข็งค่ามากขึ้น