'ความสุข' หน้าตาเป็นยังไง? ในโลกวิทยาศาสตร์

'ความสุข' หน้าตาเป็นยังไง? ในโลกวิทยาศาสตร์

"ความสุข" เป็นโรคติดต่อทางพันธุกรรม คนมีความสุขมักไม่ค่อยปวดเมื่อย และเงินซื้อความสุขไม่ได้ คือสรุปผลวิจัยเรื่องความสุขตามหลักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก

"ความสุข" คือสิ่งนามธรรมที่มนุษย์ทั่วโลกต้องการ แต่ก็ใช่ว่าหลักวิทยาศาสตร์แบบรูปธรรมจะอธิบายความสุขของมนุษย์ไม่ได้ เพราะเมื่อต้นปี 2018 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ของสหรัฐฯ เปิดหลักสูตรออนไลน์ให้ผู้คนสามารถเข้าเรียนในคอร์สที่มีชื่อว่า “วิทยาศาสตร์แห่งความสุข (Science of Happiness)

ศ. ซอนย่า ลูโบมีร์สกี แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซด์ กล่าวว่า ระดับความสุขในชีวิตของคนเราถูกกำหนดมาล่วงหน้าแล้วด้วยพันธุกรรมถึง 50% ถูกกำหนดด้วยเหตุการณ์แวดล้อม 10% และความพยายามริเริ่มส่วนบุคคลอีกถึง 40%

ระยะเวลาการเรียนตลอด 10 สัปดาห์จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องราวของความสุขในแบบที่มีข้อมูลอ้างอิงแน่นๆ หรือมีการทดลองแบบเข้มข้น กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปมองหน้าตาของความสุขในโลกของวิทยาศาสตร์ว่าเป็นอย่างไร

1609336356100

  • ว่าด้วยเรื่อง.. ประเภทของความสุข

ในร่างกายของคนเรา ประกอบด้วยสารเคมีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ฮอร์โมน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกันกับอวัยวะต่างๆ เพื่อให้ร่างกายของคนเราสามารถทำงานได้อย่างปกติ ไม่เว้นแม้แต่ ‘ความสุข’ ที่ฮอร์โมนก็ควบคุมด้วยเช่นกัน

ความสุขจากฮอร์โมนถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. เอ็นโดรฟิน (Endorphin)

เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ ‘สารสุข’ เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวก แต่เมื่ออยู่ในภาวะเครียดฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะลดลง

2. โดพามีน (Dopamine)

เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความพึงพอใจ รักใคร่ และยินดี เป็นสารที่หลั่งออกจากสมองกับเซลล์ประสาทในร่างกาย โดพามีนจะเกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน เช่น การทำงานของระบบประสาทสมอง การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้

ถ้าโดพามีนในร่างกายของเราต่ำเกินไป จะทำให้มีความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้ ซึ่งนับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ยาที่รักษาโรคทางจิตเวชในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาเอาโดพามีนมาใช้ในการรักษา นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโดพามีนต่ำเกินไปทำให้เป็นโรคพาร์กินสันได้ เพราะฮอร์โมนที่ลดลงทำให้ระบบการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีการสั่น และก้าวขาไม่ออก

3. เซโรโทนิน (Serotonin)

เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหาร ซึ่งมีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ และพฤติกรรม และการนอนหลับ ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำเกินไปจะทำให้เราหงุดหงิด นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ มีภาวะปวดศีรษะ เป็นไมเกรน หรืออาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

160933645739

  • เงินซื้อความสุขไม่ได้?

เรื่องเงินและความสุข เป็นเรื่องที่มีการศึกษาปัจจัยต่อเนื่องกันหลายต่อหลายชิ้น แต่จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย พบว่าเงินมีผลกระทบกับผู้คนได้ในระดับปานกลาง ส่วนคนร่ำรวยไม่ได้มีความสุขเหนือไปกว่าคนที่ขัดสน เพราะคนเรามีกระบวนการทางจิตวิทยาที่ปรับตัวให้เคยชินกับความสุขสบายที่ได้รับ (Hedonic adaptation) ซึ่งทำให้คนรวยไม่ค่อยรู้สึกรู้สาอะไรกับความมั่งคั่งของตนเองมากนัก

สรุปง่ายๆ คือการมีเงินสามารถสร้างความสุขได้แค่ช่วงหนึ่งเท่านั้น ตามวิจัยคือ เมื่อมีเงิน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 2.45 ล้านบาท) จะก่อให้เกิดความสุข แต่ถ้าใครมีมากกว่านั้น เงินจำนวนที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกมีความสุขขึ้นแต่อย่างใด

  • สุขเป็นโรคติดต่อ!

หลายคนอาจจะคิดว่าความสุขเกิดขึ้นได้เฉพาะจากจิตใจ แต่ผลวิชัยหลายชิ้นยืนยันว่าความสุข ถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้

ศ.ซอนย่า ลูโบมีร์สกี มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตริเวอร์ไซด์บอกอีกว่า ระดับความสุขในชีวิตของคนเราถูกกำหนดมาล่วงหน้าแล้วด้วยพันธุกรรมถึง 50% และถูกกำหนดด้วยเหตุการณ์แวดล้อม 10% และความพยายามริเริ่มส่วนบุคคลด้วยอีกถึง 40%

นักวิจัยได้ทำการศึกษาคู่แฝดที่เหมือนกันและพบว่าความสุขที่เกิดขึ้นกับพวกเขาทั้งสองคน มีส่วนคาบเกี่ยวกับพันธุกรรมของทั้งคู่ นอกจากนี้ ยังอ้างอิงด้วยว่าเมื่อเราใช้เวลาอยู่กับคนที่มีความสุขเราก็มีความสุขเพิ่มขึ้นเช่นกัน

160933648658

  • คนที่มีความสุขมักจะไม่ค่อยปวดเมื่อย

มีผลการศึกษาในปี 2544 - 2548 ที่ให้ผู้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความสุข และอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ สรุปผลได้ว่าเมื่อใดที่ผู้คนมีความสุข อาการของการปวดร่างกายมักจะลดลง ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้หญิงที่เป็นโรคข้ออักเสบ และอาการปวดเรื้อรัง ก็มีอาการปวดลดลง

นั่นสามารถยืนยันได้ว่า "ความสุข" ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนคือการเป็น "ยาบรรเทาปวด" ได้ดี ไม่แพ้ยาปฏิชีวนะเลย

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น หรือภาพรวมความสุขในโลกวิทยาศาสตร์ ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าความสุขคืออะไรกันแน่ แต่อย่างไรก็ตามการค้นหาความสุขในแบบของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

อ้างอิง :

bbc, phyathai, positivepsychology, bustle, greatergood.berkeley.edu, apa.org