Plant-based Food โอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ใน EEC

Plant-based Food โอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร ใน EEC

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจอาหาร อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเกิดคำถามว่าแล้วตลาดอาหารกลุ่มไหนที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่บ้าง

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจอาหาร อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเกิดคำถามว่าแล้วตลาดอาหารกลุ่มไหนที่ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่บ้าง ในบทความนี้จึงชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Plant-based Food หนึ่งในเทรนด์อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยเฉพาะพื้นที่ EEC ที่มีเม็ดเงินส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในปี 2561-2562 ถึงกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อ Plant-based Food มาบ้าง แต่บางท่านอาจสงสัยว่า Plant-based food คืออาหารอะไร ดังนั้น ก่อนที่จะทราบว่าเหตุใด Plant-based Food ถึงเป็นตลาดที่น่าสนใจ จึงขออธิบายก่อนว่า Plant-based food คืออะไร

Plant-based Food เป็นผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ใช้วัตถุดิบที่ทำจากพืช เช่น ถั่ว เห็ด สาหร่าย ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ โดยอยู่ในรูปแบบของอาหารที่หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อ นม ไข่ โยเกิร์ต เนย อาหารทะเล และที่จริงเราต่างคุ้นเคยกับตลาดมานานแล้ว แต่เป็นในรูปแบบของโปรตีนเกษตร และเมื่อผนวกกับนวัตกรรมด้านวิทยาศาตร์อาหาร ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดมีรสชาติ กลิ่นและสีสัน เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากสัตว์มากขึ้น

ตัวอย่างผู้ประกอบการ Plant-based Food ในต่างประเทศ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ Beyond Meat และ Impossible Foods  จากการเปิดตัวเนื้อวัวที่ทำจากพืชที่มีรสชาติ สีสัน และเนื้อสัมผัสเหมือนกับเนื้อวัวมาก หรือบริษัท Noblegen ซึ่งเป็น Startup สัญชาติแคนาดาที่พัฒนาไข่ผงวีแกนที่ชื่อ “EUNITE” เพื่อทดแทนแหล่งโปรตีนไข่ที่ได้จากสัตว์ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่มีปัญหาสุขภาพที่ต้องการหลีกเลี่ยงการบริโภคไข่

สำหรับในประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาทำตลาดนี้ เช่น บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NRF) ที่พัฒนา Plant-based Food ในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น เนื้อบาร์บีคิวที่ทำจากขนุน ไส้กรอกที่ทำจากพืช หรือบริษัท Startup ที่ใช้ชื่อแบรนด์ More Meat ซึ่งพัฒนาเนื้อเทียมจากพืชที่ทำจากเห็ดแครงและโปรตีนถั่วเหลือง โดยเน้นเจาะตลาดระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ (B2B) ในกลุ่มร้านอาหาร

กลับมาคำถามที่ว่าทำไมตลาด Plant-based Food จึงน่าสนใจ? การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดี (Health & Wellness) ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคพยายามลดการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูป ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและหันมาบริโภคอาหารซึ่งเป็นโปรตีนจากพืชแทน

นอกจากนี้ กระแส Flexitarian หรือผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น สามารถทานเนื้อสัตว์ได้เป็นครั้งคราวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ตลาด Plant-based Food ไม่จำกัดอยู่แค่กลุ่มวีแกน (Vegan) และ Vegetarian อีกต่อไป โดยจากรายงาน Consumer Insights ของ Mattson Survey 2017 พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เกือบ 1 ใน 3 คน เลือกที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นครั้งคราว ในขณะที่มีคนอเมริกันจำนวนน้อยที่ระบุว่าเป็นมังสวิรัติหรือวีแกน

ในระยะต่อไปศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า แนวโน้มการทำตลาด Plant-based Food ของธุรกิจ Foodservice หลายแห่ง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค จะเป็น Growth Engine ให้ตลาดนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ตลาดในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด