ผู้ค้าน้ำมัน เปิดเกมรุกขยายปั๊มปี64 ชิงฐานลูกค้ารักษามาร์เก็ตแชร์

ผู้ค้าน้ำมัน เปิดเกมรุกขยายปั๊มปี64 ชิงฐานลูกค้ารักษามาร์เก็ตแชร์

ปี 2563 ถือเป็นการปรับฐานลงของธุรกิจน้ำมันในประเทศไทย จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการลดลงอย่างมาก แต่ในปี2564 ผู้ค้าน้ำมัน ยังวางแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี2563 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้การเดินทางของประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าวชะลอตัวลง สะท้อนจากการรายงานข้อมูลสถิติการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวัน รอบ 11 เดือน ของปี 2563 (ม.ค. – พ.ย.) ของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 12.4% โดยกลุ่มเบนซิน ลดลง 1.0% กลุ่มดีเซล ลดลง 3.0% และน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet ) ลดลง 60.5% เป็นต้น

ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดของผู้ค้าน้ำมัน(มาร์เก็ตแชร์) รอบ 11 เดือน(ม.ค.-พ.ย.ปี2563) พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 คือ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน) หรือ OR มีปริมาณอยู่ที่ 16,120 ล้านลิตร มีสัดส่วน 37.23%,อันดับที่ 2 คือ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 4,648 ล้านลิตร มีสัดส่วน 10.74%,อันดับที่ 3 คือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 4,372 ล้านลิตร มีสัดส่วน 10.10%,อันดับที่ 4 คือ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จํากัด มีปริมาณอยู่ที่ 3,688 ล้านลิตร มีสัดส่วน 8.52% และอันดับที่ 5 คือ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) มีปริมาณอยู่ที่ 2,639 ล้านลิตร มีสัดส่วน 6.10% ที่เหลือเป็นผู้ค้ารายย่อย มีปริมาณรวมอยู่ที่ 11,827 ล้านลิตร มีสัดส่วน 27.32%

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญกดดันต่อยอดการใช้น้ำมันในช่วงมีมาตรการล็อกดาวน์และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมาหยุดชะงักลง แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ลงในระยะต่อมา กิจกรรมต่างๆ ก็เริ่มกลับมา และส่งผลดีต่อยอดการใช้น้ำมันของประเทศตั้งแต่เดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 เป็นต้นมา เช่น เดือนพ.ย.63 ที่ยอดการใช้น้ำมันบางชนิดกลับมาเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดังนั้น ในปี 2564 จึงเห็นผู้ค้าน้ำมันฯรายต้นๆของประเทศ ต่างกางแผนขยายการลงทุนสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) หรือ เปิดปั๊มใหม่เพิ่มเติม เพื่อชิงฐานลูกค้าและรักษามาร์เก็ตแชร์ได้

160930400671

ประเดิมด้วย “พี่ใหญ่” ที่ครองแชมป์มาร์เก็ตแชร์ เบอร์ 1 คือ OR ในเครือ ปตท. โดย น.ส.จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR เปิดเผยว่า ธุรกิจน้ำมันของ OR มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมัน “PTT Station” ในไทยปีละประมาณกว่า 100 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,900 สาขา ขณะที่ธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน(Non-Oil) ร้าน Café Amazon ยังมีแผนขยายสาขาต่อเนื่อง จากปัจจุบัน มีกว่า 3,100 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็นในสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,900 สาขา และนอกสถานีบริการน้ำมันประมาณ 1,200 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)

นอกจากนี้ แผนการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า(2564-2568) ตั้งงบไว้กว่า 7.7 หมื่นล้านบาท ดังนี้ ธุรกิจน้ำมัน ใช้เงินลงทุนสัดส่วน 34% มีแผนจะขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ให้เป็นกว่า 2,500 สถานี ในประเทศไทยภายในปี 2568 ,ธุรกิจ Non-Oilใช้เงินลงทุนสัดส่วน 17% มีแผนขยายสาขาร้าน Café Amazon ให้เป็นกว่า 5,200 สาขาในประเทศไทย ,ธุรกิจต่างประเทศ ใช้เงินลงทุน สัดส่วน21%จะขยายสถานีบริการน้ำมันในต่างประเทศจาก 329 สถานี (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) เป็นกว่า 650 สถานีและขยายสาขาร้าน Café Amazon จาก 272 สาขา (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)เป็นกว่า 550 สาขาภายในปี 2568 และธุรกิจอื่นๆ ใช้เงินลงทุน สัดส่วน 28% มีแผนขยายไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New s-curve และทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A)

160930403856

ขณะที่ บางจากฯ ที่สลับอันดับมาร์เก็ตแชร์ ระหว่างเบอร์ 2 กับ เบอร์ 3 นั้น ก็มีแผนขยายการลงทุนตอ่เนื่อง โดย นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ระบุว่า บางจากฯ ตั้งงบลงทุนกลุ่มธุรกิจการตลาดในปี 2564 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม)ใหม่ จำนวน 100 แห่ง จากสิ้นปี 2563 มีจำนวนอยู่ที่ 1,240 แห่ง รวมถึงขยายการเติบโตในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) เช่น ร้านสะดวกซื้อ ท็อปส์ เดลี่ และแฟมิลี่มาร์ท ในปั๊มน้ำมันบางจาก ที่จะเปิดเพิ่มเติมในปี2564 จากที่ผ่านมาเปิดรวมกันไปแล้ว 33 แห่ง

นอกจานี้ บางจากฯ ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่เตรียมประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นน้ำมันเกรดพื้นฐานกลุ่มเบนซิน โดยเตรียมพร้อมผลักดันให้ น้ำมันแก๊สโฮอล์ E20 สูตรใหม่ “E20 S EVO” ที่เติมสารช่วยให้การเผาไหม้เชื้อเพลิงสมบูรณ์ขึ้น เป็นพระเอกในปีหน้า

160930413621

ส่วน “คาลเท็กซ์” ก็ยังมุ่งมั่นขยายการลงทุนในไทย โดยนางอลิซ พอตเตอร์ ประธานกรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “คาลเท็กซ์” ประกาศว่า คาลเท็กซ์ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) ในประเทศไทยให้ครบตามเป้าหมาย 500 แห่งภายในสิ้นปี 2564 ภายใต้งบประมาณต่อเนื่องระหว่างปี 2561-2564 วงเงินประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท จากสิ้นปีนี้ จะมีสถานีบริการอยู่ที่กว่า 400 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงจะเดินหน้าปรับปรุงสถานีบริการเก่าให้เป็นโฉมใหม่ (smart design) ปีละ 50 แห่ง เพื่อเป็นการดึงดูดผู้บริโภคที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil) บริษัท ก็ให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็จับมือกับพันธมิตร เช่น ร้านไก่ทอด KFC, กาแฟสตาร์บัค และกาแฟเอสเพรสโซ่ (Espresso) เข้ามาเปิดสาขาให้บริการในปั๊มน้ำมัน โดยได้รับความนิยมจากผู้บริโภค อีกทั้งในปีนี้ ยังได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นร้านค้ารายเล็ก หรือ โลคอล แบรนด์ (Local Brand) มากขึ้น เช่น ร้านกาแฟชาวดอย ร้านส้มตำจัดจ้าน ร้านมุมกะเพรา เป็นต้น