‘วัลลภา ไตรโสรัส’ หัวเรือใหญ่ ‘AWC’ นำอาณาจักรแสนล้านก้าวข้ามมรสุม

‘วัลลภา ไตรโสรัส’ หัวเรือใหญ่ ‘AWC’ นำอาณาจักรแสนล้านก้าวข้ามมรสุม

นับเป็นข่าวดังแห่งวงการโรงแรมไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 เมื่อ “วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.24 แสนล้านบาท

และเป็นหนึ่งในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ภายใต้เครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เปิดเผยถึงการเตรียมจัดตั้งกองทุนวงเงินหลักหมื่นล้านบาทเพื่อช้อนซื้อโรงแรมในประเทศไทย คาดจัดตั้งได้ในปี 2564 หลังเจ้าของโรงแรมหลายรายติดต่อ AWC เพื่อขอเสนอขายโรงแรมมากกว่า 100 แห่ง!

วัลลภา บุตรสาวคนที่ 2 ของเจ้าสัวเจริญ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ในวันแถลงเปิดตัว “บันยันทรี กระบี่” รีสอร์ทระดับลักชัวรีในรอบ 10 กว่าปีของ จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2563 พร้อมสะท้อนภาพของทุนโรงแรมว่าหลายราย “ไปต่อไม่ไหว” ยอมยกธงขาวพ่ายให้กับวิกฤติโควิด-19 ที่พ่นพิษใส่ธุรกิจโรงแรมอย่างหนักหนาสาหัสเกินแบกรับ โดยโรงแรมกว่า 100 แห่งที่ติดต่อขอให้ AWC เข้าซื้อนั้น พบว่ามีทั้งระดับ 3-5 ดาว ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯมากที่สุด และกระจายในต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต ชลบุรี และอื่นๆ เจ้าของโรงแรมส่วนใหญ่เป็นทุนไทย เสนอขายในราคาตั้งแต่หลักร้อยล้านบาทถึงแพงสุดหลักหมื่นล้านบาท โดยพบว่ามี 30หรือกว่า 30 แห่งที่ตรงกับดีเอ็นเอของ AWC 

โดยโรงแรมที่ AWC สนใจซื้อ ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นโรงแรมกี่ดาว แต่ต้องอยู่ในเมืองที่มีศักยภาพ มีโอกาสนำมาพัฒนา ปรับปรุง และรีแบรนด์ให้ตรงกับกลยุทธ์ของบริษัทฯ ทั้งในแง่การกระจายความหลากหลายของธุรกิจ สร้างสมดุลเรื่องโลเกชั่น และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เน้นเจาะนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัวและกลุ่มจัดประชุมสัมมนา และเมื่อมีข้อสรุปเรื่องดีลซื้อโรงแรม ก็สามารถรีแบรนด์และสร้างรายได้กับกระแสเงินสดให้บริษัทฯได้ทันที

ทั้งนี้ในมุมของ AWC มองด้วยว่านอกจากจะเป็น “โอกาสในช่วงวิกฤติ” สามารถซื้อโรงแรมเพื่อนำมาปรับปรุงสร้างคุณค่าแก่นักลงทุนของ AWC แล้ว ตลาดโรงแรมยังต้องการให้ AWC เข้าไปช่วย “ต่อเวลา”  ช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบให้อยู่รอดจากวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤติที่รุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยพบเจอมา!

และเมื่อได้มีโอกาสพบ วัลลภา อีกครั้งในพิธีเปิด “AEC TRADE CENTER – PANTIP WHOLESALE DESTINATION” โฉมใหม่ของ “พันธุ์ทิพย์ ประตูน้ำ” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2563 ซึ่งตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางการค้าส่งแบบครบวงจรใจกลางกรุงเทพฯแห่งแรกของไทย วัลลภา อัพเดตเพิ่มเติมว่า “พอเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อซื้อโรงแรมในประเทศไทยกลายเป็นข่าวดัง ทาง CIO (ที่ปรึกษาด้านการลงทุน) บอกว่ามีเอกสารวางกองเต็มโต๊ะเลย และพบว่ามีเจ้าของโรงแรมต่างๆ เข้ามาเสนอขายโรงแรมแก่ AWC มากขึ้น จริงๆ ก็มีโอกาสต่างๆ เข้ามา แต่เรื่องการจัดตั้งกองทุนฯอยู่ในขั้นตอนเริ่มศึกษา กำลังดูเรื่องโครงสร้างที่เหมาะสม เลยยังต้องดูไทม์มิ่งอีกที และค่อยๆ คัดเลือกโครงการที่สามารถเข้าไปลงทุนได้”

ส่วนเรื่องของธุรกิจโรงแรมในเครือ AWC ซึ่งกรำศึกหนักจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อช่วงไตรมาส 2 ของปี 2563 วัลลภา บอกว่า คาดว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2564 บริษัทฯจึงต้องเตรียมความพร้อม และเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อเนื่อง โดยยังคงวางงบฯลงทุนรวมตามแผน 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2563-2567) ของบริษัทฯไว้ที่ 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบฯลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทสำหรับการเดินหน้าโครงการโรงแรมใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 12 แห่ง ส่วนงบฯลงทุนอีกกว่า 2 หมื่นล้านบาทกันไว้สำหรับลงทุนโครงการอื่นๆ ที่มีศักยภาพในอนาคต ซึ่งต้องดูไทม์มิ่งให้ดี

โดยประเมินว่ากว่าตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” จะเริ่มทยอยกลับมาจริงๆ น่าจะเป็นช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2564 และระหว่างรอนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา โรงแรมในเครือ AWC ต้องรุกทำตลาดไทยเที่ยวไทย และกระตุ้นรายได้อาหารและเครื่องดื่ม (F&B) อย่างต่อเนื่อง

อย่างแคมเปญที่ได้รับกระแสตอบรับดีมากคือการจัด “แฟลชเซล” (Flash Sale) ออกโปรโมชั่นหั่นราคาห้องพักโรงแรมหรู 5 ดาวในกรุงเทพฯ เหลือคืนละ 1,000 บาท เพื่อสร้างกระแส กระตุ้นให้อัตราเข้าพักโรงแรมในกรุงเทพฯซึ่งในภาวะปกติพึ่งพิงลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก กลับมาฟื้นตัวและคึกคักด้วยบรรยากาศการเข้าพักและจับจ่ายอีกครั้ง

“AWC มองว่าภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 กุญแจหลักคือการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาฟื้นฟูรายได้ และเข้ามาเติมเต็มอัตราการใช้บริการซัพพลายท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิด-19 มาร่วม 1 ปีเต็ม” หัวเรือใหญ่แห่ง AWC กล่าวปิดท้าย