พาณิชย์ เอาอยู่ คุมราคาหน้ากากอนามัยแพง

พาณิชย์ เอาอยู่ คุมราคาหน้ากากอนามัยแพง

พาณิชย์ งัดมาตรการคุมราคาหน้ากากอนามัย หลังโควิด-19 ระบาดรอบ 2 ไร้ปัญหากักตุน หลังโรงงานแห่เปิด ปั้มหน้ากากอนามัยออกสู่ตลาดวันละ 5 ล้านชิ้น

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่หลังพบผู้ติดเชื้อชาวเมียนมา ที่ทำงานในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร จำนวนมากและแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค”หน้ากากอนามัย”กลับมามีความต้องการมากขึ้น โดยหลังจากพบการระบาดหนักเพียงไม่กี่ชั่วโมง ราคาหน้ากากอนามัยก็พุ่งพรวดขึ้นเป็นเท่าตัว โดยเฉพาะราคาขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ต้องนัดประชุมด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงสถานการณ์ราคาหน้ากากอนามัย และวางแนวทางการป้องกันไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาหน้ากากอนามัย โดยยังใช้มาตรการตามพ.ร.บ.ราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เคยใช้เมื่อครั้งการแพร่ระบาดรอบแรก

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงกลางปีที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศครั้งแรก ความต้องการหน้ากากอนามัยสูงมาก จนทำให้เกิดการขาดแคลนและส่งผลให้ราคาหน้ากากอนามัย ขยับตัวสูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัว เนื่องจากในขณะนั้นโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยมีเพียง 11 โรง มีกำลังการผลิตรวมแล้ว 1.2ล้านชิ้นต่อวันหรือ36ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกลับความต้องการของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มเสี่ยง ที่ตื่นตระหนก ต้องการซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพื่อใช้สำหรบตัวเองจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยทั้งประเทศ  ทำให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยนายวิชัย โภชนกิจ อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงนั้นต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหา

160923892135

มีการเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆและออกมาตรการควบคุมให้หน้ากากอนามัย เป็นสินค้าควบคุมและประกาศห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย กำหนดราคากลางหน้ากากอนามัยราคาต้องไม่เกินชิ้นละ2.50 บาท ส่วนหน้ากากอนามัยที่นำเข้าต้องบวกราคาต้นทุนและกำไรไม่เกิน 10 % 23 % ขึ้นอยู่กับชนิดของหน้ากากอนามัย นอกจากนี้รณณรงค์ให้ใช้หน้ากากทางเลือกโดยเฉพาะหน้ากากผ้า ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ แม้ในช่วงแรกจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่สุดท้ายก็มีเรื่องของการกักตุนหน้ากากอนามัยทำให้นายวิชัยต้องโดนเด้งไปนั่งตบยุงที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่เหลืออายุราชการไม่กี่เดือนพร้อมทั้งมีการตั้งคณะกรรมการสอบ สุดท้ายผลสอบออกมาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้กลับมานั่งในเก้าอี้อธิบดีกรมการค้าภายในจนเกษียณอายุราชการ

ปัญหาราคาหน้ากากอนามัยที่ขายเกินราคาจริง ก็มีอย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมผู้ค้าที่ขายเกิดราคา จนช่วงที่สถานการณ์โควิด-19ค ลี่คลาย ราคาหน้ากากอนามัยก็กลับมาเป็นปกติ ประกอบกับมีการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันมีโรงานผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 30 โรง ผลิตหน้ากากอนามัยได้วันละ 5 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

จนกระทั่งปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดรอบ 2 ความต้องการหน้ากากอนามัยจำนวนมากก็กลับมาอีกครั้งพร้อมๆกับข่าวการปรับราคาขึ้นเท่าตัวของหน้ากากอนามัยทั้งที่ขายหน้าร้านค้าและในออนไลน์  จนเป็นที่มาทำให้พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลราคาหน้ากากอนามัยไม่ให้แพง และไม่ให้ขาดตลาด ได้ให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคา รวมทั้งดูแลเรื่องการกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง และให้ใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน และลงโทษคนที่ทำผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

ทำให้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กำชับพาณิชย์จังหวัดและค้าภายในจังหวัด ให้ติดตามสถานการณ์ความต้องการสินค้าป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด โดยให้เน้นไม่ให้เกิดการฉวยโอกาสปรับราคาขายปลีก ที่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ยังเป็นสินค้าควบคุมราคาไม่เกิน 2.50 บาทต่อชิ้น หากเจอทั้งการขายเกินราคา ปฎิเสธการขาย หรือบิดเบือนตลาดให้ปั่นป่วนให้เอาผิดตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้ทันที มีโทษทั้งจำคุกและปรับ พร้อมกันนี้ ยังไม่อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากอนามัย ทั้งๆที่มีผู้ผลิตทำหนังสือขออนุญาตมาต่อเนื่อง เพราะความต้องการในต่างประเทศยังสูง

160923893924

ร้อนถึงกรมการค้าภายในโดยนายวัฒนศักดิ์ ศรีเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ต้องประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการป้องกัน แต่ก็ยังสามารถควบคุมได้ เนื่องจากจำนวนการผลิตที่มากพออีกทั้งประชาชนเองก็มีทางเลือกใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้า โดยกรมการค้าภายในได้มีการขอความร่วมมือ ให้โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มกำลังการผลิต โดยมีโรงงาน 30 โรงสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 100 % พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจได้ว่า ปริมาณหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงการระบาดรอบ 2 จึงไม่รุนแรงเท่ากับครั้งแรก เนื่องจากปริมาณการผลิตที่มีมากถึง 5 ล้านชิ้นต่อวัน ประกอบกับประชาชนมีทางเลือกใช้หน้ากากผ้าแทน รวมทั้งบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงพาณิชย์สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ปัญหา จึงไม่ซ้ำรอยเหมือนรอบแรก