เปิดยุทธการแก้ไฟป่า 'ชิงเก็บก่อน' ใช้ดาวเทียมวิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง

เปิดยุทธการแก้ไฟป่า 'ชิงเก็บก่อน' ใช้ดาวเทียมวิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง

กรมป่าไม้ เปิดยุทธการแก้ไฟป่า "ชิงเก็บก่อน" รับชื้อใบไม้แห้ง 10 จังหวัดเหนือพันตัน ใช้ดาวเทียม "โมดิส" กับ "เวียร์" วิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง


เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่โรงเรียนแม่แจ่ม ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ นายวราวุธศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดโครงการลดปริมาณเชื้อเพลิงของกรมป่าไม้ โดยเปิดพร้อมกันใน 10 จังหวัดภาคเหนือ โดยนายวราวุธ กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดมลพิษหมอกควัน เกิดอันตรายด้านสุขภาพอนามัย ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคม และการท่องเที่ยว ตลอดจนการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน จึงต้องเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมไฟป่าอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่

160915797221

ทส.โดยกรมป่าไม้ จึงมีมาตรการ “ชิงเก็บก่อน” คือ การเก็บเศษใบไม้ที่จะเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ หรือนอกเขตป่า โดยร่วมบูรณากับทุกภาคส่วนและชุมชนในพื้นที่สามารถนำเศษใบไม้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น นำเอาใบไม้ไปบดอัดและเผาจนกลายเป็นถ่านอัดแท่ง หรือนำไปแปรรูปเป็นสินค้าชนิดๆ อื่น ขณะเดียวกัน ก็มีบริษัทห้างร้านเอกชนเข้ามาขอซื้อเศษวัสดุ ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านสามารถนำไปขายสร้างรายได้ได้ ขณะเดียวกันเราก็สามารถลดปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าไปด้วย

160915798746

รมว.ทส.กล่าวต่อว่า หากทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ หรือพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า สามารถเก็บเชื้อเพลิงได้อย่างน้อยจังหวัดละ 100 ตันก่อนช่วงจะเกิดไฟป่า ในช่วงกลางเดือนก.พ.ของทุกปี เชื่อว่าจะลดปัญหาการเกิดไฟป่า ลดปัญหาฝุ่นละอองจากหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ และจะสามารถลดการเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ตามเป้าหมายแน่นอน อีกทั้งยังสร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเผาป่ามาสู่การใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างยั่งยืน

ด้านนายอดิศร นุชดำรง อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้เตรียมพร้อมในทุกมิติของการปฏิบัติงานด้านการป้องกัน โดยจัดโครงการลดปริมาณเชื้อเพลิง ประจำปีงบประมาณ 2564 พร้อมกันใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก และพิษณุโลก สำหรับพื้นที่สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่า กรมป่าไม้ได้ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูงใน 2 ระบบ คือ โมดิส (MODIS) และระบบเวียร์ (VIRS) มาวิเคราะห์พื้นที่สุ่มเสี่ยง หากพบว่าพื้นที่ใดมีเศษวัสดุมีจำนวนมาก ก็จะให้เจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปชิงเก็บเศษวัสดุก่อนเกิดช่วงไฟป่า

160915801153

นอกจากนี้ ยังดำเนินการมาตรการเชิงรุกด้วยการรณรงค์ประชาสัมพันธ์และการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การป้องกัน และควบคุมไฟป่าให้ประสบความสำเร็จ และเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ให้ชุมชนได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของไฟป่า เกิดความรักความหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ เกิดความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนในการดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไฟป่า ชุมชนสามารถนำเชื้อเพลิงจากป่ามาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม และมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและควบคุมไฟป่าในพื้นที่อย่างจริงจังในช่วงวิกฤต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า และช่วยให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าประสบผลสำเร็จ ทันต่อสถานการณ์

160915804096