คาถาปีใหม่ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"เดินทางปลอดภัย

คาถาปีใหม่ "ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ"เดินทางปลอดภัย

กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เดินทางปลอดภัย ตรวจหาแอลกอฮอล์ในเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย เอาผิดร้านค้าขายแอลกอฮอล์ให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

วันนี้ (28 ธันวาคม 2563) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พล.ต.ต. วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ ผบก.กองแผนงานความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันแถลงข่าว คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่ใกล้มาถึงนี้ ยังอยู่ในภาวะของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับบ้านหรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจะพบมากขึ้นจากช่วงปกติ ข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 5 ปี พบผู้เสียชีวิต 2,526 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ

ข้อมูลปี 2562-2563 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึง 54.66% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สูงถึง 39.53%

ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ อย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง และยังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กรณีตรวจพบจะให้มีการสืบกลับไปยังร้านค้าที่ฝ่าฝืน และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ เตรียมแนวทางให้ อสม.คัดกรองสังเกตอาการคนเมาที่ด่านชุมชนและคัดกรองป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย เพื่อช่วยสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกไปสู่ท้องถนน สำหรับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ศูนย์รับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 ทั่วประเทศ ชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ได้จัดอบรมวิธีการประเมินสภาวะการมึนเมาแก่ อสม. พัฒนาศักยภาพ อสม.จิตอาสา เรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้มีทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินบนท้องถนนอย่างถูกวิธี ก่อนส่งต่อให้บุคลากรทางการแพทย์หรือส่งต่อไปยังสถานพยาบาลอย่างปลอดภัย ลดการเสียชีวิตหรือความพิการลงได้ และขอให้ อสม.ช่วยเป็นหูเป็นตา สอดส่อง เฝ้าระวังร้านค้าในชุมชนไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย และนำความรู้ในการดูแลและป้องกันอุบัติเหตุจากแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. ส่งต่อสู่ชุมชนด้วยการเคาะประตูบ้านหรือสื่อสารผ่านผู้นำชุมชนและสื่อในชุมชน

นพ.ยงยศ กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ได้เตรียมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับแล้ว 8,255 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 20,338 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินรวม 164,795 คน เพิ่มบุคลากรมากขึ้นจากเดิม 120-130 เปอร์เซ็นต์ เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และระบบส่งต่อ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก

กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ซึ่งบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขได้อุทิศตน ทุ่มเท เสียสละ และเต็มใจทำงานโดยไม่มีวันหยุด จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดอุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล 29,545 ราย เฉลี่ยวันละ 4,220 ราย สูงกว่าช่วงปกติ

นพ.โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการขับขี่ปลอดภัย มั่นใจไร้แอลกอฮอล์ โดยกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมการขนส่งทางบก สนับสนุนค่าตรวจแอลกอฮอล์ในเลือดให้ทุกราย ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 เพื่อนำผลตรวจไปประกอบสำนวนคดีตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ปัญหาดื่มแล้วขับยังมีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อเนื่อง ยังพบร้านค้ากระทำความผิดกฎหมาย จึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล จึงขอให้ประชาชนเป็นหูเป็นตาคอยสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมาย

ทั้งการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี การจำหน่ายในสถานที่ห้ามขาย เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานที่ราชการ สถานศึกษา ศาสนสถาน สวนสาธารณะ การขายสุราในเวลาที่ห้ามขาย 2 ช่วงเวลา คือหลัง 24.00-11.00 น. และ 14.00-17.00 น. การเร่ขาย และการโฆษณาหรือส่งเสริมการขาย (ลด แลก แจก แถม) ให้แจ้งได้ที่ศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา หมายเลข 0 2590 3342 หรือสายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ภานุวัฒน์  กล่าวว่า อสม. กว่า 1.05 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายสำคัญของระบบสาธารณสุขไทย ทำงานใกล้ชิดกับประชาชน เชื่อมประสานเจ้าหน้าที่และเครือข่ายต่างๆ ในชุมชนได้เป็นอย่างดี โดยกระทรวงสาธารณสุข กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้อบรมให้ความรู้ในการประเมินและคัดกรองคนเมาเบื้องต้น ณ ด่านชุมชน เพื่อสกัดกั้นคนเมาในชุมชนไม่ให้ขับขี่พาหนะ ให้กับประธานชมรม อสม. ระดับจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อนำความรู้ไปสื่อสาร และถ่ายทอดให้กับ อสม. ในพื้นที่ เน้นย้ำให้เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันการกระทำผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมทั้งได้พัฒนาทักษะการเป็นจิตอาสาด้านการแพทย์และสาธารณสุข สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นและทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) พร้อมช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ

นพ.ศุภกิจ  กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุแล้ว ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรงไม่สามารถเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ในเลือดโดยวิธีเป่าลมหายใจได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้ขับขี่ส่งสถานพยาบาลทำการเจาะเลือดภายใน 6 ชั่วโมง (หากเกิน 6 ชั่วโมงปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดต่ำลง) และส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไปยังห้องปฏิบัติการศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และส่วนภูมิภาค ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ สมุทรสงคราม ชลบุรี ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง

โดยจะทำการตรวจวิเคราะห์ด้วยเครื่อง Gas Chromatography (Headspace GC-FID) ซึ่งให้ผลที่เที่ยงตรงและแม่นยำ และได้รับการรับรองห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 15189 และ ISO/IEC 17025 สำหรับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งได้มีการกำหนดวันควบคุมเข้มข้น ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมดำเนินการตรวจวิเคราะห์ให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการอ้างอิงทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้สอบเทียบเครื่องวัดแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ซึ่งควรผ่านการสอบเทียบตามรอบระยะเวลาทุก 6 เดือน โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีใบรับรองผลการสอบเทียบและติดสติ๊กเกอร์รับรองไว้ที่ตัวเครื่อง และหากห้องปฏิบัติการ พบว่า เครื่องมีค่าความผิดพลาดเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนดจะทำการปรับตั้งค่าใหม่ เพื่อให้เครื่องสามารถตรวจวัดค่าปริมาณแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

นพ.อัจฉริยะ  กล่าวว่า สพฉ. ได้เตรียมความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน มีบุคลากรในระบบกว่า 57,000 คน พร้อมให้บริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุทางถนน โดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 รวม 80 ศูนย์ ครอบคลุมทุกจังหวัด พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง และมีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินพิเศษ (Special Covid-19 Operation Team: SCOT) ที่ผ่านการอบรมออกปฏิบัติงานรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิด 19 รับสั่งการจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด 1669 ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน

รวมทั้ง ได้พัฒนาชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับพื้นฐานพิเศษ (BLS) และชุดปฏิบัติการฉุกเฉินระดับต้นพิเศษ (FR) 1,800 คน ใน 54 จังหวัดทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน บาดเจ็บที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายถึงชีวิต หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เช่น หัวใจหยุดเต้น เส้นโลหิตสมองตีบหรือแตก ที่เสี่ยงต่อความพิการ รวมทั้งพบเห็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด 19 โทรแจ้งขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 หรือใช้แอปพลิเคชัน EMS 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ดร.สุปรีดา กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานเชิงรุกและรณรงค์ต่อเนื่องทั้งปี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 เพราะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า หากมีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถออกสู่ถนน ยิ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ในช่วงเทศกาล สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายวางมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อลดความสูญเสียทั้งจาก “ดื่มแล้วขับ” และ “ขับรถเร็ว” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่สอดคล้อ

สถิติผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุขับรถเร็ว ร้อยละ 42.8 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.8 และยังพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนนี้ ร้อยละ 34 มาจากงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยปีนี้ สสส. มุ่งสื่อสารภายใต้แคมเปญ ‘ลดเร็ว ลดเสี่ยง’ ย้ำถึงการขับรถที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เท่ากับการตกตึก 8 ชั้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์หากใช้ความเร็วที่สูงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 42 และถ้าสูงกว่า 100 กม./ชม. โอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 80 พร้อมกันนี้ยังรณรงค์ ‘กลับบ้านปลอดภัย’ ผลิตสปอตเรื่อง “กล้อง CCTV” มุ่งกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้ เพียงปฏิบัติตามกฎจราจร...ลดเร็ว ลดเสี่ยง...ดื่มไม่ขับ โดยมียอดผู้รับชมในสื่อออนไลน์ของ สสส. แล้วกว่า 6.8 ล้านครั้ง