ย้อนคดี 'พล.ท.มนัส คงแป้น' ปัญหา 'ค้ามนุษย์-แรงงานเถื่อน' แค่ ลูบหน้าปะจมูก

ย้อนคดี 'พล.ท.มนัส คงแป้น' ปัญหา 'ค้ามนุษย์-แรงงานเถื่อน' แค่ ลูบหน้าปะจมูก

'พล.อ.ประยุทธ์' ประกาศกร้าวจัดการ 'ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน' และเอาผิดกับข้าราชการ ไม่ต่างกับคดี 'พล.ท.มนัส' กับ พวก ในยุค คสช. ที่ทำได้เพียงแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ไม่ได้ขุดรากถอนโคน กลายเป็นวงจรวนเวียนไม่จบสิ้น

กลายเป็นประเด็นที่คนไทยทั้งประเทศเฝ้าจับตา สำหรับการหาตัว 'ผู้เกี่ยวข้อง' กับ ขบวนการนำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศ จนเป็นเหตุให้ 'โควิด-19' กลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ ทั้ง ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน

พร้อมมอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยประสานข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเฉพาะ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)เพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินหาความเชื่อมโยง

ทั้งนี้ขบวนการลักลอบนำแรงงานเถื่อนเข้าประเทศ เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมมายาวนาน  แม้ 'รัฐบาล'ทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่มาจาก 'เลือกตั้ง' และ 'รัฐประหาร' มีนโยบายปราบปราม แต่ไม่เคยทำให้เรื่องดังกล่าวหมดสิ้นไป เพราะนอกจากมีเรื่องผลประโยชน์จำนวนมหาศาลแล้ว ยังเกี่ยวพันธ์กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการไทย 

เช่นเดียวกับคดีประวัติศาสตร์ ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่มีนโยบายกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์และแรงงานเถื่อน จนเป็นที่มาการขุดค้นพบร่างชาวโรฮิงญาจากเมียนมาและบังกลาเทศ กว่าสิบศพ บริเวณเทือกเขาแก้ว จ.สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับพักคอย ก่อนส่งผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย

จากการสอบสวนคดีดังกล่าว พบความเชื่อมโยงบุคคลในระบบข้าราชการ ทั้ง ตำรวจ ทหาร นักการเมืองท้องถิ่น พลเรือน นายหน้าจากเมียนมา รวมทั้งสิ้น 103 ราย แต่ที่น่าตกใจมีชื่อของ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก รวมอยู่ในขบวนการ

พล.ท.มนัส ถูกตรวจสอบเส้นทางการเงิน จนพบหลักฐานมีเงินโอนเข้าบัญชี  กว่า 65 ครั้ง ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2555 จำนวน 61 ครั้ง เป็นเงิน 13 ล้านบาทเศษ และในช่วงเดือน ส.ค. 2556 จำนวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 1 ล้านบาทเศษ

สอดคล้องกับประวัติการรับราชการในระหว่างปี 2553-2557 ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการจังหวัดทหารบกชุมพร และ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 จ.สงขลา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ผลักดันแรงงานชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศตามแผน 'พิทักษ์อันดามัน1'

โดยจำเลยทั้งหมด ถูกฟ้องในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 และประมวลกฎหมายอาญา

และมีผู้ถูกฟ้องเพิ่มเติมในข้อหา สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพ.ร.บป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 จำนวน 54 คน มียอดเงินหมุนเวียน รวม 443,389,468 บาท  โดยหนึ่งในนั้นมีชื่อ 'พล.ท.มนัส'
จึงเป็นที่มาของคำพิพากษาจำคุก พล.ท.มนัส  82 ปี โดยให้ได้รับโทษจริง 50 ปี และเมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันฟอกเงินอีก 20 ปี รวม 70 ปี

นอกจากคดีดังกล่าว จะมีชื่อคนในกองทัพแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกระทำผิดและถูกจำคุก ทั้ง ร.ต.ต.นราทอน สัมพันธ์ อดีตรอง สว.ป.กก.สส.ภ.จว.ระนอง , พ.ต.ท.ชาญ อู่ทอง สว.ธร.สภ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี  รวมถึงนักการเมืองท้องถิ่น นายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ อดีตนายก อบจ.สตูล นายบรรณจง ปองผล  อดีตนายกเทศมนตรีปาดังเบซาร์  จ.สงขลา 

นี่เป็นคดีตัวอย่างแสดงถึงความเชื่อมโยง บุคคลในแวดวงข้าราชการ ตำรวจ ทหาร นักการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์กับขบวนการค้ามนุษย์และแรงงานเถื่อน กับผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล จนกลายเป็นที่มาโศกนาฏกรรม บนเทือกเขาแก้ว จ.สงขลา

ซึ่งไม่ต่างจากกรณี การลักลอบนำพาแรงงานเถื่อนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด จ.สมุทรสาคร พุ่งสูงแบบก้าวกระโดด และแพร่ระบาดไปอีกหลายจังหวัดรวมถึงความเสียหายเกิดกับระบบเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของไทย

 'พล.อ.ประยุทธ์' ประกาศกร้าวจัดการ ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน และเอาผิดกับข้าราชการ ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ต่างกับคดี 'พล.ท.มนัส' กับ พวก ในยุค คสช. ที่ทำได้เพียงแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่ไม่ได้ขุดรากถอนโคน เมื่อเวลาผ่านไปขบวนการเหล่านี้ย้อนกลับมาใหม่ กลายเป็นวงจรวนเวียนไม่จบสิ้น

วันนี้คนทั้งประเทศ คาดหวังให้รัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์' จริงจังกับการแก้ปัญหาขบวนการค้าแรงงานเถื่อน และระบบข้าราชการ เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไปจากสังคมไทยเสียที