3 ปัจจัยรอดได้ 'การบินไทย' ปี 2564

3 ปัจจัยรอดได้  'การบินไทย' ปี 2564

จากความคืบหน้าของการของการทำงานแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ตามที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ ดีดี การบินไทย ได้แถลงไว้เมื่อวันที่ 24 .ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบแผนฟื้นฟูให้ศาลล้มละลายกลางพิจารณาในวันที่ 2 ก.พ.2564 ซึ่งหากได้รับการอนุมัติตามกระบวนการทั้งหมด คาดว่าการบินไทยจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูระบุไว้ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค.ปีหน้า ใช้เวลาไม่เกิน 7 ปี เพื่อหลุดจากองค์กรฟื้นฟูกิจการ

โดยในแผนฟื้นฟูดังกล่าว นายนนท์ กลินทะ รักษาการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน การบินไทย ได้ฉายภาพไว้ว่า หากการบินไทยจะเดินหน้าตามแผนฟื้นฟู องค์กรจะไปต่อได้ต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ 

1.หารายได้ ลดค่าใช้จ่าย ปรับราคาบัตรโดยสารให้สอดคล้องกับตลาด และปรับกระบวนการบริหารจัดการออฟฟิศในต่างประเทศ รวมทั้งนำดิจิทัลมาใช้กับการบริหารจัดการภายในองค์กร และมุ่งหารายได้นอนแอร์โร โดยเฉพาะในช่วงปี 2564 ที่การบินไทยยังหารายได้ไม่ได้ ก็ต้องเน้นหารายได้มาจากนอนแอร์โร  

2.รีดไขมัน จากต้นทุนที่เคยมี ทั้งค่าเช่าต่างๆ การซ่อมบำรุง พร้อมทั้งแยกหน่วยธุรกิจที่สามารถหารายได้ไปจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจย่อย ในลักษณะของ Business unit เช่น ธุรกิจศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งนอกเหนือจากการหารือรายได้ซ่อมบำรุงอากาศยานของการบินไทย จะต้องหารายได้จากการซ่อมบำรุงสายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะสายการบินในตลาดอินโดจีน

3.ปรับปรุงการทำงาน โดยใช้ดิจิทัล เพื่อให้ทุกหน่วยงานเห็นข้อมูลกันหมด จัดการประชุมกับทุกหน่วยธุรกิจเพื่อให้การตัดสินใจในการทำงานคล่องตัวมากขึ้น ลดกระบวนการขอความเห็นชอบที่เคยมีมาก ปรับเป็นประชุมหารือเพื่อขอความเห็นชอบพร้อมกัน และเริ่มดำเนินงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ทุกเที่ยวบินที่จะทำการบิน ต้องมีการบริหารจัดการต้นทุน วิเคราะห์ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้ทราบข้อมูลก่อนเที่ยวบินทำการบิน โดยทุกเที่ยวบินต้องทำกำไร

อย่างไรก็ดี จาก 3 องค์ประกอบที่การบินไทยต้องยึดหลักนำมาดำเนินการตามแผนฟื้นฟู การบินไทยคาดการณ์ไว้ว่า หากสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด คาดว่าในปี 2564 การบินไทยจะทำการบินรวม 45 – 55 จุดบิน ใช้จำนวนอากาศยานทำการบินอยู่ที่ 37 – 45 ลำ และสามารถสร้างรายได้ประมาณ 1.5 – 2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2568 เพิ่มจุดบินเป็น 75 – 80  จุดบิน ใช้จำนวนอากาศยานทำการบิน 69 – 75 ลำ และสร้างรายได้ประมาณ 1.25 – 1.35 แสนล้านบาท

สำหรับเป้าหมายการหารายได้ในปี 2564 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ การบินไทยจึงวางแผนเพิ่มรายได้นอนแอร์โร ภายหลังจากปี 2563 พบว่ารายได้ส่วนนี้เข้ารมาช่วยพยุงองค์กรอย่างมาก โดยมีรายได้รวมช่วง ม.ค. - มี.ค. 2563 ช่วงก่อนเกิดโควิด -19 มีจำนวน 8,675 ล้านบาท และประมาณการรายได้รวมช่วง เม.ย. – ธ.ค. มีจำนวน 5,204 ล้านบาท รวมรายได้ปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวน 13,879 ล้านบาท

ทั้งนี้ หากแยกให้เห็นภาพตามหน่วยธุรกิจการบินไทย ยังพบว่ารายได้คาร์โก้ ที่โดยปกติจะคิดเป็น 30% จากรายได้โดยรวม ในปี 2563 คาร์โก้มีปริมาณขนส่งสินค้าสูงถึง 1.1 แสนตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมากหากเทียบกับสถานการณ์การขนส่งช่วงโควิด -19 ระบาดเช่นนี้  และช่วยสร้างรายได้ให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะซ่อมอากาศยานของการบินไทยแล้ว ยังเพิ่มฐานลูกค้าผ่านการซ่อมอากาศยานให้กับสายการบินอื่น

อีกหนึ่งหน่วยธุรกิจที่เป็นกำลังสำคัญของการสร้างรายได้นอนแอร์โร คือ ครัวการบิน ซึ่งจากความสำเร็จในปี 2563 ที่ทำให้เกิดกระแสตอบรับปาท่องโก๋การบินไทย จนสามารถสร้างรายได้เข้าองค์กรเพิ่มขึ้น ในปี 2564 การบินไทยจึงเตรียมขยายธุรกิจนี้ โดยจะเปิดเป็นลักษณะของเฟรนไชส์ปาท่องโก๋ เพื่อทำให้แบรนด์ปาท่องโก๋การบินไทยเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น อีกทั้งจะเพิ่มสาขาไม่บินก็ฟินได้ อร่อยล้นฟ้า เพื่อหารายได้เพิ่มเติม และยังมีธุรกิจรับทำความสะอาดอากาศยาน ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่สร้างรายได้นอกเหนือธุรกิจการบิน