"มาตรา 112" แนวรบใหม่  ม็อบราษฎร VS รัฐบาล

"มาตรา 112" แนวรบใหม่  ม็อบราษฎร VS รัฐบาล

'มาตรา112' กลายเป็นประเด็นสาธารณะอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลกลับมาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อหวังกำราบการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร จนนำมาสู่การแสดงคิดเห็นท้วงติงรัฐบาลจากองค์กรระหว่างประเทศ ทำให้ 'มาตรา112' กลายเป็นสนามรบโดยปริยาย

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ภายหลังตำรวจได้ใช้กฎหมายมาตรานี้ จัดการกลับกลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรในหลายกรณี โดยเฉพาะกับ 3 แกนนำคนสำคัญทั้ง ‘เพนกวิน’ พริษฐ ชิวารักษ์ ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ‘อานนท์ นำภา’ และรวมไปถึงแนวร่วมคนอื่นๆ อีกหลายคดี

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ทบทวนการใช้มาตรา 112 ในทางการเมือง เนื่องจากเป็นการใช้กฎหมายที่มุ่งไปที่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ไม่สมกับเจตนารมณ์ของกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กระแสยกเลิกมาตรา 112 เมื่อมองภาพรวมทั้งหมด จะพบว่าไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมคณะราษฎรเท่านั้น แต่เริ่มปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรมตั้งแต่ ‘คดีอากง’ เมื่อหลายปีที่ผ่านมา 

โดยเป็นคดีที่นายอำพล ตั้งนพกุล หรือ อากง อายุ 61 ปี ขณะนั้น เป็นจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ถูกตัดสิน จำคุก 20 ปี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือหมิ่นเบื้องสูงไปหาเลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำนวน 4 ข้อความ

องค์กรภาคประชาชนทั้งในและต่างประเทศเรียกร้องให้ทบทวนการดำเนินคดีดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นการดำเนินคดีที่ไม่ได้สัดส่วน อีกทั้งยังไม่เป็นการเคารพกติกาสิทธิมนุษยชนสากลที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติ

เช่นเดียวกับกรณีของ ‘สมยศ พฤกษาเกษมสุข’ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ที่ได้เผยแพร่ข้อความและเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อนถูกศาลจำคุกฐานมีความผิดตามมาตรา 112 เป็นเวลารวม 10 ปี และได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา และเวลานี้กำลังถูกดำเนินคดีตามมาตรานี้อีกครั้ง

ทั้งสองกรณีเป็นแรงกดดันที่ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกสภาเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะท่าทีของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการใช้มาตรา 112 จัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม จนกระทั่งมีการยื่นเรื่องให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาตรวจสอบรัฐบาลไทยในกรณีดังกล่าว ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

โดยเมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่า “เราเป็นทุกข์ใจอย่างมาก จากความเคลื่อนไหวของทางการในการตั้งข้อหาต่อผู้ประท้วงอย่างน้อย 35 คนภายใต้มาตรา 112 ว่าด้วยการกระทำที่ถือเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งรวมถึงผู้ประท้วงที่เป็นนักเรียนอายุ 16 ปี”

จากท่าทีของยูเอ็นส่งผลให้รัฐบาลไทย โดย ‘อนุชา บูรพชัยศรี’ โฆษกรัฐบาลต้องออกมาตอบโต้ทันทีว่ามาตรา 112 ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่เป็นไปเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ

มาตรา 112 จึงกลายเป็นแนวรบใหม่ระหว่าง ‘คณะราษฎร’ กับ ‘รัฐบาล’ แทนการจัดม็อบเพื่อชุมนุมกดดันบนถนนในช่วงที่สถานการณ์โควิดกำลังระบาด และกระแสม็อบเริ่มอยู่ในช่วงซาที่จำเป็นต้องหาประเด็นสาธารณะเพื่อจัดกิจกรรมเลี้ยงกระแส เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้งสามข้อให้มีแรงต่อไป

ทั้งนี้ มีมุมมองทางวิชาการต่อทิศทางของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย ‘ยอดพล เทพสิทธา’ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุว่า แม้จะเกิดกระแสเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขมาตรา 112 ขึ้นมาในระยะหลัง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ยังเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดการแก้ไขตามที่มีการเรียกร้อง

“เมื่อเรามองย้อนกลับไปยังอดีตที่ผ่านมาจะพบว่านับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย มีกฎหมายของประชาชนได้รับการผลักดันในสภาน้อยมาก หรือเสนอเข้าสภาได้สุดท้ายก็ไม่ผ่านการโหวตของส.ส.และส.ว. ดังนั้น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อแก้ไขมาตรา 112 ถึงประชาชนจะเข้าชื่อได้ครบจำนวนแต่ก็คงไม่ผ่านสภาอยู่ดี”

อาจารย์ยอดพล เสนอว่า ทางออกของความขัดแย้งเกี่ยวกับมาตรา 112 อาจเริ่มด้วยการเปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงานสอบสวน ด้วยการพยายามทำให้การบังคับใช้มาตรา 112 ถอยห่างจากการเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้มากขึ้น เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้มาตรา 112 ห่างไกลจากวัตถุประสงค์เดิมของการมีกฎหมายดังกล่าว

“มาตรา 112 อยู่ในลักษณะ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้แจ้งความเอาผิดก็ได้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาควรเริ่มจากจุดนี้ก่อนเป็นสำคัญ” อาจารย์ยอดพล สรุป