วังจันทร์วัลเล่ย์ … แก่นอัจฉริยะของ EEC

วังจันทร์วัลเล่ย์ … แก่นอัจฉริยะของ EEC

หลายพื้นที่ในสามจังหวัดของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกืจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้วาดฝันและประกาศพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city

หลายพื้นที่ในสามจังหวัดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้วาดฝันและประกาศพื้นที่ต่าง ๆ เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city แต่เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ผมยังไม่ค่อยเห็นพื้นที่ใดที่มีความก้าวหน้าไปอย่างมีนัยเท่ากับโครงการ เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเล่ย์ บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ในอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งในการเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ดี คือห่างจากสนามบินดอนเมือง 170 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภา 90 กิโลเมตร และสนามบินสุวรรณภูมิ 130 กิโลเมตร และไฮเวย์ชั้นเยี่ยมที่กำลังจะสร้าง และมีพันธมิตรชั้นยอดในการร่วมพัฒนา ที่สำคัญก็มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ดูจะเป็น เพชรเม็ดงามที่พอจะ เป็นหน้าเป็นตาของภาพฝันในอนาคตของ EEC ได้ชัดในขณะนี้

วังจันทร์วัลเล่ย์แห่งนี้ดำเนินการโดยบริษัท ป... จำกัด (มหาชน) ที่ออกแบบให้พื้นที่นี้เป็นเมืองอัจฉริยะตามแบบและข้อกำหนดในการเป็นเมืองอัจฉริยะ และกำลังพัฒนาพื้นที่นี้ร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ที่จะทำให้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางของพัฒนาและวิจัยด้านต่าง ๆ ของประเทศ การเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่กับธรรมชาติและชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและวิจัยที่ยั่งยืน ในรูปแบบ “Smart Natural Innovation Platform” ที่แบ่งพื้นที่การพัฒนาออกเป็นสัดส่วน 3 เขต คือ พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) พื้นที่เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก อยู่อาศัย และสันทนาการ (Community Zone)

การแบ่งพื้นที่เป็นโซน ๆ ก็เพื่อการพัฒนาที่ให้เกิดการสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย และทั้งหมดจะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี่ที่ชาญฉลาดในการทำงาน เชื่อมโยง และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตในพื้นที่นี้ เพื่อเป็นแบบอย่างของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอื่น ๆ ว่าเป้าหมายสุดท้ายของการเป็นอัจฉริยะ ก็เพื่อชีวิตที่ดีของประชาชน

วันนี้ต้องให้เครดิตบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่สามารถหาพันธมิตรในการพัฒนาพื้นที่นี้ไปในทิศทางที่วางแผนไว้ได้อย่างถูกฝา ถูกตัว และดำเนินการได้รวดเร็ว ตอนนี้วังจันทร์วัลเล่ย์กำลังเดินไปข้างหน้าอย่างขะมักเขม้น เรียกว่าไม่มีผ่อนคันเร่งตามแผนการเป็นอัจฉริยะทั้ง 7 ด้านที่เป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานเศรษฐกิจดิจิลทัลที่ให้เมืองอัจฉริยะต้องมีนั้น คาดว่าในปี 2564 เราจะได้เห็นเฟสแรกที่สมบูรณ์แบบของเมืองอัจฉริยะแห่งนี้ ซึ่งผมต้องชมคนเลือกพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ เพราะที่นี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ทำให้สามารถพัฒนาได้เร็วและง่าย เพราะที่นี้มีแหล่งความรู้ระดับนานาชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่บ่มเพาะเด็กระดับหัวกะทิของประเทศให้เป็นนักวิจัยในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งการเรียนรู้ธรรมชาติและไม้พื้นถิ่นที่ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ที่ตอนนี้ดำเนินการสร้างเสร็วแล้ว

นอกจากนี้ โครงการอาจเริ่มต้นและเสร็จไปแล้ว ไม่ว่า Solar farm ของ GPSC ศูนยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ ปตท.สผ. หรือสำนักงานอวกาศของ GISTDA อาคาร สำนักงาน ที่กำลังก่อสร้างจำนวนมาก แต่ที่ผู้คนรอดูอยู่ คือพื้นที่อยู่อาศัย สันทนาการ ผู้คนอยากเห็นรถบัสไฟฟ้าวิ่งในเมืองแห่งนี้ การจัดการจารจรที่ดีทั้งทางรถยนต์ ทางจักรยาน และทางคนเดิน สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวที่รองรับการสันทนาการแบบต่าง ๆ รวมทั้งศูนย์ธุรกิจที่รองรับวิถีชีวิตคนในเมืองอัจฉริยะ ที่จะทำให้คนที่อยู่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่นี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการบริการที่อัจฉริยะ 

อย่างไรก็ตาม โครงการหัวใจของพื้นที่นี้ อาทิ ศูนย์ข้อมูลกลาง อาคารสำนักงานของโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi ที่เป็นห้องปฏิบัติการ สำนักงาน และที่ตั้งของพันธมิตรด้านดิจิลตัลต่าง ๆ รวมทั้ง Co-working space ที่เลื่อนเปิดตัวออกไปจากปลายปี 2563 เพราะภัยโควิดที่ทำให้การทำงานก่อสร้างและการวางระบบต้องเลื่อนออกไป แต่ก็เห็นว่ารับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าศูนย์ข้อมูลจะเปิดแน่นอนในปลายไตรมาสแรกปี 2564 ส่วนอาคาร EECi จะเปิดตัวไตรมาสสามปีหน้าเช่นกัน ตอนนี้การออกแบบแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และกำลังก่อสร้าง ช่วงนี้ก็ต้องออกแรงหาพันธมิตรระดับแม่เหล็กมาลง เพราะมีแรงจูงใจในด้านภาษีรายได้มากถึง 13 ปี ผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับงานวิจัย และการออกวีซ่าที่สะดวกทั้งครอบครัว ฯลฯ

ที่น่าสนใจอีกอย่างของพื้นที่นี้คือระบบเครือข่ายที่รวดเร็วระดับ 5G ที่จะช่วยให้การเชื่อมโยงการปฏิบัติงานด้านสาธารณูปโภคของพื้นที่นี้ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันในระบบดิจิลตัลได้มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าระบบจัดการน้ำทั้งหมด ระบบไฟฟ้า การกำจัดน้ำเสีย รถโดยสาร และสถานีดับเพลิง รวมทั้งระบบการรักษาควาดภัยต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าไว้ในระบบเดียวกัน เพื่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุดในการให้ความสะดวกสบายกับธุรกิจและชุมชนในพื้นที่นี้ และที่สำคัญ ยังช่วยให้เป็นพื้นที่ที่เป็น Sandbox ให้กับการทดลองงานวิจัย นวัตกรรมด้านดิจิลตัล ทดลองก่อนเป็นธุรกิจจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีพันธมิตรร่วมหลายรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น  ทรูคอร์ปเปอร์เรชั่น กสทช. สำนักการบินพลเรือน หรือ สวทช. ฯลฯ

เมื่อเทียบกับโครงการเมืองอัจฉริยะแห่งอื่น ๆ แล้ว ผมว่าที่นี้ดูเหมือนจะเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด อาจเป็นเพราะมีทุนเดิมที่ดีอยู่แล้ว แถมยังไม่พอยังเจ้าภาพที่เยี่ยมและทุนหนาอย่าง ปตท. เป็นคนบริหารภาพรวมด้วยแล้วยิ่งติดปีกไปไกลและเร็ว ก็ต้องรอดูว่าปีใหม่ 2564 นี้ ทั้งหมดที่ว่าไว้จะเปิดดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่ หากเป็นจริงแล้ว ผมว่าที่นี้จะเป็นความหวังที่ชัดเจนที่สุดของ EECที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยและคนในพื้นที่ EEC ว่า “เราทำได้” ที่จะทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างอัจฉริยะที่มีแกนกลางจาก “วังจันทร์วัลเล่ย์”