'ซานตา คลอส' และถิ่นที่อยู่ ชายเคราขาวตัวแทน 'คริสต์มาส'

'ซานตา คลอส' และถิ่นที่อยู่ ชายเคราขาวตัวแทน 'คริสต์มาส'

เทศกาล "คริสต์มาส" กลับมาอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค. ของทุกปี ซึ่งบุคคลสำคัญที่มาคู่กันเสมอก็คือ "ซานตา คลอส" เราจะพาไปเจาะถิ่นที่อยู่ของซานต้า และส่องตำนานภารกิจแสนลึกลับ ที่สร้างความสุข ให้กับผู้คนทั่วโลก

ภาพลักษณ์ของซานต้าในใจของเราทุกวันนี้  มีที่มาจากภาพวาดชื่อ Santa Claus and His Works ของศิลปินชื่อ โทมัส นาสต์ (Thomas Nast) เมื่อ ค.ศ. 1866 เขาจินตนาการถึงกิจวัตรของ "ซานตา คลอส" ก่อนจะนำของขวัญมามอบแก่เด็กๆ ทั่วโลกในค่ำคืน "คริสต์มาส" ผนวกกับจินตนาการของนักวาดภาพประกอบที่ตีพิมพ์ก่อนหน้า บ้านของซานต้าดูเหมือนจะเป็นที่ใดสักแห่งบนโลกที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ และซานต้าเดินทางด้วยเลื่อนที่ลากด้วยฝูงเรนเดียร์

ทำให้สื่อสมัยใหม่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนหรือภาพยนตร์ เมื่อพูดถึงคริสต์มาสและซานต้า ทุกเรื่องจะกำหนดพิกัดถิ่นที่อยู่ของซานต้าเอาไว้ตรงกันหมด นั่นก็คือ โลเคชั่นขั้วโลกเหนือ

  • บ้านของลุงซานต้าที่ขั้วโลกเหนือ

โทมัส นาสต์ นักเขียนการ์ตูนการเมือง ชาวอเมริกัน ผู้รับผิดชอบการออกแบบโลโกสัญลักษณ์รูป ช้าง และลา ของ พรรคเดโมแครต (Democratic) และ รีพลับริกัน (Republican) ในตอนนั้น  และเป็นผู้เขียน Harper’ s Weekly ซึ่งเป็นการ์ตูนคริสต์มาสรายสัปดาห์ ที่มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อในสงครามกลางเมืองสหรัฐ (Civil War) เมื่อปี 1863 ด้วย

นาสต์หยิบยืมต้นแบบแรกเริ่มของการ์ตูนมาจากหนึ่งในงานเขียนเมื่อปี 1823 ของ คลีเมนต์ คลาร์ค มัวร์ (Clement Clarke Moore) เรื่อง “A Visit From St.Nicholas” หรืออีกชื่อคือ “Twas The Night Before Chistmas” แล้วนำมาปรับปรุงเสริมแต่งคาแรคเตอร์ ชายผู้มีหนวดเคราสีขาว แก้มแดง กับอุปนิสัยร่าเริง และวาดให้เขาเป็นผู้มอบของขวัญให้กับทหารฝ่ายเหนือ รวมทั้งปีนเข้าปล่องไฟไปช่วยภรรยาของทหารที่กำลังสวดมนต์

การ์ตูนของนาสต์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนในที่สุดเขาก็เริ่มสร้างเรื่องราวของลุงซานต้าในเวอร์ชั่นตัวเองนอกเหนือจากที่มีอยู่ในต้นฉบับของคลาร์ค มัวร์ขึ้นในปี 1866 และใช้ชื่อว่า "ซานตา คลอส" กับงานของเขา (Santa Claus and His Works) โดยเขาได้เพิ่มรายละเอียดที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญเอาไว้ว่าซานต้าอาศัยอยู่ที่  “ขั้วโลกเหนือ”

160863383814

  • ทำไม "ซานตา คลอส" ต้องอยู่ถึงขั้วโลกเหนือ

มีรายงานว่าในช่วง 1840 ถึง 1850 เป็นช่วงเวลาที่เรื่องราวความลี้ลับและภูมิศาสตร์ของขั้วโลกเหนือกำลังถูกพูดถึง จากการพยายามเดินทางสำรวจอาร์กติกของเซอร์ จอห์น แฟรงคลิน  (Sir John Franklin)

ทศวรรษนั้นมีข่าวโด่งดังมากข่าวหนึ่ง คือ ใน ค.ศ.1845 เซอร์ จอห์น แฟรงคลิน นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้ถูกส่งไปยังบริเวณอาร์ติก เพื่อค้นหาเส้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ สู่มหาสมุทรแปซิฟิก เขาเป็นผู้บังคับเรือสองลำ คือ อีเรบุส และเทเรอร์ แต่โชคไม่ดี เขาและคณะได้สูญหายระหว่างทาง

เรื่องราวดังกล่าวได้รับการบอกเล่าด้วยการคาดการณ์ โดยคณะเดินทางสำรวจที่ได้ถูกส่งไปค้นหาความจริง ยืนยันว่าเรือสองลำนั้นได้เข้าไปติดในน้ำแข็ง และหลังจากติดอยู่ในน้ำแข็งนานถึง 18 เดือน แฟรงคลินก็ตาย ลูกเรือได้ทิ้งเรือ และพยายามหาที่ปลอดภัย แต่ไม่มีผู้ใดรอดตายเลย

แม้ว่าการเดินทางครั้งนี้จะสิ้นสุดลงด้วยการที่ต้องสังเวยชีวิต แต่แฟรงคลินก็ได้แสดงให้เห็นว่า เส้นทางสายตะวันตกเฉียงเหนือนั้นมีอยู่ และความจริงเรือของพวกเขาก็ใกล้จะบรรลุถึงจุด ซึ่งคณะนักสำรวจก่อนหน้านั้นได้ไปถึง แล้วจากทางตะวันออก ความรู้เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือในขณะนั้นยังมีไม่มาก หรือแทบจะยังไม่รู้อะไรเลย มันจึงเปรียบเสมือนดินแดนลึกลับ นั่นทำให้ ซานต้า (สัญลักษณ์แห่ง "คริสต์มาส") และเอลฟ์ในเรื่อง สามารถทำงานหนักสร้างของเล่นและของขวัญได้ตลอดทั้งปีโดยไม่มีใครเห็น

160863383855

ในตอนนั้น มีรายงานว่า สมัยต่อมา โรเบิร์ต เพียรี (Robert Edwin Peary) นักสำรวจชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่เดินทางไปถึง ขั้วโลกเหนือ (North Pole) ได้สำเร็จ ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1909 เพียรีเข้าเป็นนาวิกโยธินสหรัฐในปี 1881 ระหว่างปี 1886-1891 เขาเคยสำรวจทวีปอาร์คติก (Arctic) บริเวณเกาะกรีนแลนด์ เขาได้เรียนรู้เทคนิคการดำรงชีพอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในทวีปน้ำเข็งจาก ชาวเผ่าอินนุยท์ (Inuit)

ในปี 1898-1905 เขาเริ่มออกสำรวจขั้วโลกเหนือแต่ไม่สำเร็จ และวันที่ 1 มีนาคม 1909 เขาได้ออกสำรวจขั้วโลกเหนืออีกครั้ง และไปตั้งแคมป์ที่ขั้วโลกเหนือได้สำเร็จในวันที่ 6 เมษายนค.ศ.1909 พร้อมกับเพื่อนชาวอเมริกัน Matthew Henson ชาวเอสกิโม 4 คนได้แก่ Ootah, Egigingwah, Seegloo, Ooqueah และสุนัขลากเลื่อนอีก 40 ตัว

นอกเหนือจากในขณะนั้นที่องค์ความรู้เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำแล้ว บริเวณนั้นยังเป็นดินแดนที่น่าสนใจเพราะอุดมไปแร่หายากมากมาย ครั้งหนึ่ง ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1901-1905) ที่ผู้คนนิยมเรียกเขาว่า เท็ดดี้ เคยกล่าวไว้ว่า ที่นั่นมีเหมืองแร่แต่ว่ายังไม่ได้รับการขุดเพราะว่าไม่มีใครยอมเป็นแรงงาน อีกทั้งชาวพื้นเมืองเอสกิโมที่อาศัยอยู่ที่นั่นก็ไม่ยินดีที่จะมาเป็นแรงงานขุดแร่

แม้ปัจจุบันจะมีการสำรวจเพื่อประเมินขอบเขตของทรัพยากรไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่มีการยืนยันตัวเลข หรือปริมาณที่แท้จริง นอกจากแร่ธาตุหายากแล้วยังอุดมไปด้วยน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีการประเมินกันว่าแหล่งน้ำมันที่ยังไม่ถูกขุดพบ 13% และแหล่งก๊าซที่ยังไม่ถูกขุดพบอีก 30% ของโลกอยู่ในบริเวณนี้

160863383865

  • ต่อมา ซานต้าย้ายบ้านมาอยู่ที่ฟินแลนด์

ในปี 1927 เมื่อนักจัดรายการวิทยุชาวฟินนิชชื่อ Markus Rautio หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลุงมาร์คัส บอกแฟนคลับผู้ฟังว่า โรงงานผลิตของเล่นของซานต้าตั้งอยู่ที่เมือง Korvatunturi ในเขตแลปแลนด์ของฟินแลนด์ คนก็เริ่มรับรู้ต่อๆ กันว่าบ้านของซานต้าตั้งอยู่ที่ แลปแลนด์

มาถึงปี 1984 การท่องเที่ยวของประเทศฟินแลนด์จึงเกิดไอเดียส่งเสริมเขตแลปแลนด์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดตั้งหมู่บ้านซานตาคลอสขึ้นที่เมืองโรวาเนียมิ ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากเมืองที่ลุงมาร์คัสบอกไว้ นับแต่นั้นมา.. แลปแลนด์ก็กลายเป็นบ้านของซานต้า และมีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยือนกว่า 500,000 คนต่อปี

160863383889

ภายในหมู่บ้านซานตาคลอสมีพิพิธภัณฑ์ของเล่นเล็กๆ ร้านอาหาร ที่พัก ร้านขายของที่ระลึก และกิจกรรมสนุกๆ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือ การถ่ายรูปคู่กับคุณลุงซานต้าเจ้าของหมู่บ้านแห่งนี้ และแวะส่งโปสการ์ดที่ที่ทำการไปรษณีย์ พร้อมกับติดแสตมป์ที่ประทับตราพิเศษของ Santa Claus Village ส่งไปอวยพรคนพิเศษในแดนไกล

ถึงว่าล่ะ บ้านของซานต้าที่ขั้วโลกเหนือมีของดีนี่เอง ทุกวันนี้ๆ ใครๆ ถึงอยากได้ อยากเป็นเจ้าของกัน!